"...ทุกคนควรจะได้สนใจสังเกต ศึกษา เรื่องราวบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้แต่สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษ และหญ้าที่มีคุณอย่าง “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำเพราะมีรากที่หยั่งลึกและแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคงและมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนาทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี..."

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540

จากพระบรมราโชวาท จะเห็นว่าหญ้าแฝกมีคุณประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ดังนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ปลูกหญ้าแฝกและขยายพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่เสี่ยงดินพังทลายและพื้นที่ทำการเกษตร เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์ในการยึดดินไม่ให้พังทลาย ส่วนในทางอุตสาหกรรมได้มีการนำส่วนต่างๆ ของหญ้าแฝกมาแปรรูปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ราก ใบ ดอก ส่วนใหญ่จะเห็นผลงานการใช้ใบหญ้าแฝกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากที่สุดโดยเฉพาะเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีวางจำหน่ายตามร้าน OTOP ในจังหวัดต่างๆ หรือมีการจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกในงานต่างๆ หรือที่ร้านภัทรพัฒน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มแปรรูปหญ้าแฝก

อย่างเช่น นางจินต์ เทพกำเนิด หรือป้าจินต์ เกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหญ้าแฝก ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านเกาะสวาด ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และเป็นประธานกลุ่มแปรรูปหัตถกรรมหญ้าแฝก เดิมป้าจินต์มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าและจักสานกระจูดด้วยใจรัก อีกทั้งมีประสบการณ์และภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน คิดออกแบบลวดลายขึ้นเอง เมื่อนำผลิตภัณฑ์กระจูดส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาในปี 2542 จึงจัดตั้งกลุ่มแปรรูปกระจูดขึ้นโดยมีนายอำนวย บุญอินทร์ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นวิทยากรเข้ามาสอนการแปรรูปโดยนำเชือกกล้วยและใบหญ้าแฝกมาสอนให้แก่สมาชิก ตอนนั้นป้าจินต์และสมาชิกไม่ทราบว่าหญ้าแฝกมีรูปร่างแบบไหนโดยเฉพาะใบที่วิทยากรนำมา เพื่อเป็นเป็นวัสดุในการสอน จากนั้นครูอำนวยให้เลือกใบที่สามารถใช้ได้ก็คือใบที่มีลักษณะยาว ใบใหญ่ และนำไปตากแดดแล้ว จึงนำมาสานขึ้นรูปแรกๆ ใบหญ้าแฝกก็บาดนิ้วมือ เพราะใบหญ้าแฝกแข็ง มีความคมทำให้บาดนิ้วมือได้

จากนั้นป้าจินต์ และสมาชิกเมื่อได้รู้จักใบหญ้าแฝกจึงไปตามหาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุน มอบต้นพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อนำไปปลูกเอง และเมื่อทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้นำหญ้าแฝกมาปลูกในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ป้าจินต์กับสมาชิกจึงได้หันมาแปรรูปใบหญ้าแฝกอย่างจริงจัง นำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด ซึ่งหญ้าแฝกที่นำมาปลูกในคราวนั้นก็คือหญ้าแฝกพันธุ์สงขลา 3 ใบ จะมีความเหนียวนุ่ม มีความคมน้อย สีออกขาวนวล ติดสีได้ดี และทนเหมาะสำหรับจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะใบมีความเหนียวและนุ่มนำไปขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ได้ง่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทานและแข็งแรง ปัจจุบันกลุ่มแปรรูปหัตถกรรมหญ้าแฝกบ้านเกาะสวาดของกลุ่มป้าจินต์ มีสมาชิก 6 คน และทุกคนแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกเรื่อยมา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ฝากจำหน่ายที่งานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และช่วยผลักดันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปสู่ร้านภัทรพัฒน์จนประสบผลสำเร็จ จากนั้นมีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ หากสมาชิกคนไหนที่ทำได้มากก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกทุกคนโดยเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน

ด้านผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกของกลุ่มแปรรูปหัตถกรรมหญ้าแฝกบ้านเกาะสวาดได้ถูกนำไปโชว์และจำหน่ายในงานต่างๆ โดยเฉพาะงานหญ้าแฝกโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่ สินค้าที่ขายดีมากคือถังอเนกประสงค์แบบหลากสี มีสีสันสวยงามรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ป้าจินต์ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหญ้าแฝกทุกชิ้นล้วนจักสานถักทอด้วยใจรักจากสมาชิกทุกคน ที่สำคัญได้ชิ้นงานที่เกิดจากความรักความศรัทธาในอาชีพและภูมิปัญญาของสมาชิกทุกคน จึงทำให้พวกเรารู้สึกภูมิใจในอาชีพนี้มาก ขอบคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้เรารู้จักหญ้าแฝกและสามารถสร้างรายได้ให้พวกเราได้”