ตำบลถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ราบสูง จากด้านทิศใต้ ลาดต่ำลงทางทิศเหนือสู่คลองพุมดวง มีภูเขาหินลูกโดด 2 ลูก คือเขาน้อย และเขาถ้ำสิงขร มีลำคลองสายหลักอยู่ 2 สาย คือคลองพุมดวง ไหลผ่านอำเภอตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน และคลองแทงเต่าไหลผ่านทั้งตำบลไปสู่คลองพุมดวงมีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร สวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ ประมาณร้อยละ 80  อีกร้อยละ 20 ประกอบอาชีพ รับจ้าง ข้าราชการ ค้าขาย ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการใช้ประโยชน์ของที่ดินที่ขาดความระมัดระวังเมื่ออดีต ประกอบกับพื้นที่มีความลาดเอียง ตะกอนดินจึงไหลทับถมลงมาในพื้นที่ราบเป็นผลให้เส้นทางน้ำตามธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ที่เคยได้รับน้ำก็จะแห้งขอด เป็นผลให้แปลงเพาะปลูกได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำในการบำรุงต้นพืช โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งในหลายพื้นที่ขาดน้ำโดยสิ้นเชิง ต่อมานายศรีศักดิ์ ขุนเสถียร ราษฎรหมู่ที่ 7 ตำบลถ้ำสิงขร ในฐานะตัวแทนของราษฎรในพื้นที่ได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือโครงการก่อสร้างอาคารอัดน้ำพร้อมขุดลอกอ่างเก็บน้ำธรรมรัตน์และระบบท่อส่งน้ำให้แก่ราษฎรหมู่ที่ 7 9 และ10 ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2553

นายบุญเลิศ ไชยคง หนึ่งในเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีโครงการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ต่างจากเมื่อก่อนที่ขาดแคลน ทุกคนได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้ง ภาคเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การอุปโภค บริโภค มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี  พืชสวนที่ปลูกตั้งแต่ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เงาะ ซึ่งต้องใช้น้ำมากโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ก็ไม่ขาดแคลน ทำให้ได้รับผลผลิตที่ดี สมบูรณ์ขายได้ราคา ทุกคนต่างมีรายได้อย่างมั่นคง “ขอขอบคุณในหลวงรัชกาลที่ 9  ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่พระราชทานโครงการทำนบดินพร้อมระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านบ่อน้ำผุดมาให้ราษฎรในพื้นที่ เป็นโครงการที่ทุกคนได้รับประโยชน์อันใหญ่หลวง ขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ”

ด้าน นางสาวสุพินพงศ์  ช่างสุวรรณ อีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า ตนอยู่บ้านบ่อน้ำผุด ตำบลถ้ำสิงขรมาตั้งแต่เกิด เมื่อก่อนน้ำไม่มี ต้องขุดบ่อตักน้ำขึ้นมาใช้ ตั้งแต่มีโครงการมีน้ำกินน้ำใช้สะดวกมากขึ้น ที่บ้านมีอาชีพทำสวน มีพื้นที่ 13 ไร่ ปลูกทุเรียน ลองกอง ลางสาด มังคุด เงาะ และพืชแบบผสมสาน สำหรับบริโภคในครัวเรือน ผลผลิตที่เหลือนำไปขาย ตั้งแต่มีโครงการฯ ผลผลิตที่ปลูกดีขึ้นอย่างมาก “รู้สึกภูมิใจมากที่มีน้ำได้ใช้อย่างพอเพียง ดีใจและภาคภูมิใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงดูแลไม่ทอดทิ้งประชาชน พระองค์ทรงมอบโครงการนี้มาให้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก”

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ  โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการจากผู้แทนกรมชลประทาน และผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ พบว่าปัจจุบันโครงการยังสามารถใช้การได้อย่างปกติโดยส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนบ้านบ่อน้ำผุด หมู่ที่ 7 บ้านทรายขาว หมู่ที่ 9 และบ้านร่มจิตต์ และหมู่ที่ 10 ตำบลถ้ำสิงขร จำนวน 625 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 1,512 คน รวมถึงส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2,000 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี นับตั้งแต่มีโครงการฯ ได้ช่วยให้ราษฎรสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด มีรายได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โอกาสนี้องคมนตรีให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแล รักษา ต่อยอด โครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร สืบไป