พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจการพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชนบท และมีส่วนสำคัญที่เข้าไปเสริมแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งก่อเกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติ ในการปฏิบัตินั้น รัฐบาลได้จัดระบบการสนองพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดยกำหนดให้มีองค์กรระดับชาติรับผิดชอบเรียกว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือเรียกโดยย่อว่า (กปร.)

นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ รวมจำนวน 5,151 โครงการ แบ่งออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม การสื่อสาร ด้านสวัสดิการสังคม การศึกษา และด้านบูรณาการอื่นๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในการดำเนินงานนอกจากจะเผยแพร่องค์ความรู้จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มแล้ว สำนักงาน กปร. ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ จึงจัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) ขึ้นเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันดำเนินการมาเป็นรุ่นที่ 13 แล้ว โดยนำเยาวชนในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศร่วมเข้าค่ายเรียนรู้แนวพระราชดำริทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งยังจัดให้มีกิจกรรมการประกวดโครงการเพื่อชิงทุนการศึกษาและรางวัลต่อไป

 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริสู่เยาวชน ในรูปแบบสื่อดิจิทัล โดยมีการนำเสนอให้มีความน่าสนใจตามยุคสมัย ผ่านรถโมบาย (Mobile Unit) เพื่อเผยแพร่ขยายผลแนวพระราชดำริไปยังโรงเรียนบริเวณพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับความรู้อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจากพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จึงนำไปสู่การสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแหล่งน้ำประมาณ 70 - 80 % ของโครงการรวมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ จึงมีการกำหนดแผนว่าจะทำอะไรบ้างตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เมื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นกลางน้ำ ต้นน้ำ คือ ป่าซึ่งเป็นต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนต่างๆ ให้มีน้ำสมบูรณ์ ปลายน้ำก็จะต่อยอดพัฒนาได้ ตั้งแต่เรื่องการเกษตร การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาชุมชน การตลาด และพลังงานทดแทน และด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิสังคม อันนี้คือภารกิจของกปร.ที่สำคัญ โดยเรามีองค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่เรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาอาชีพต่างๆ มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง รวมถึงมีศูนย์สาขาและศูนย์เรียนรู้ในด้านต่างๆ กว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ เหล่านี้เกิดจากการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่สำเร็จแล้วก็นำผลสัมฤทธิ์เหล่านี้ไปต่อยอดในพื้นที่ปลายน้ำให้เกิดประโยชน์ อันนี้คือแนวทางที่สำนักงานกปร. จะดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริในการสืบสาน รักษา ต่อยอดตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 42 ปี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ด้านการประสานงานกับส่วนงานที่ร่วมสนองงานพระราชดำริขอสืบสานพระราชดำริ เพื่อร่วมกันพัฒนาสร้างรากฐานชีวิตที่สมดุลให้แก่ประชาชนต่อไป” เลขาธิการ กปร. กล่าว