ทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และสำนักกิจการอวกาศแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOOSA) ในหัวข้อ “Watermeal, the Future Food Source for Space Exploration” เตรียมเดินทางไปทำวิจัยทดสอบการตอบสนองของ ‘ไข่น้ำ’ พืชดอกที่เล็กที่สุดในโลกภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง ที่ The European Space Research and Technology Centre (ESTEC) ภายใต้ โครงการ HyperGES ณ ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ ระหว่างวันที่ 17-30 กันยายน 2566

สมาชิกทีมประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ดร.สุชีวิน กรอบทอง นักวิจัยหลังปริญญาเอก นายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายวุฒิภัทร อินทร์ทองคำ นักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ และทีมพัฒนากล่องทดสอบไข่น้ำพร้อมระบบไฟฟ้าเพื่อใช้ในการทดลองที่ ESA ได้แก่ นายชนสรณ์ ธนะพาสุข กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมฯ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ สวทช. ได้เตรียมการทดลองและรอคอยกว่า 3 ปี เพื่อการเดินทางในครั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตอบ  สนองของพืชต่อสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงจำลองด้วยเครื่อง LDC เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในของประเทศไทยในการคัดกรองชนิดพืชที่เหมาะสมกับการใช้งานในการสำรวจอวกาศ รวมถึงการพัฒนาระบบการเกษตรที่สอดคล้องกับการใช้งานดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับองค์การอวกาศยุโรป และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสำรวจอวกาศระดับนานาชาติ