มก. เปิดเวทีวิชาการเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เขตภาคกลาง หาแนวทางการพัฒนาอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตโลก

ที่ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี  มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษา เขตภาคกลาง จัดการประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เขตภาคกลาง ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “อุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตโลก” โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุม โอกาสนี้ รศ.ดร.สมหวัง ขันตยานุวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบัณฑิตขั้นสูงและโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และ รศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร จิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานคณะกรรมการประสานกิจเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เขตภาคกลาง 

การประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เขตภาคกลาง ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความคิดเห็นในการพัฒนาอุดมศึกษาไทยในยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลง มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ หรือ ยุค VUCA World ทำอย่างไรจะพัฒนาบัณฑิตให้ตอบโจทย์การทำงานในสถานการณ์ดังกล่าว ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “บทบาทสถาบันอุดมศึกษากับการปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตโลก” ซึ่งมองว่าโจทย์หนึ่งที่สำคัญสำหรับสถาบันอุดมศึกษา คือการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมในการทำงานยุคสมัยใหม่ โดยสถาบันอุดมศึกษา ควรเน้นการพัฒนาบุคลากร คณาจารย์ สร้างความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ในการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Experimental Learning) สนับสนุนให้นิสิตได้ทดลองทำงานกับบริษัทหรือองค์กรภายนอก ควบคู่ไปกับการเรียนภายในห้องเรียน ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ประสบการณ์กับนิสิต สร้างภูมิคุ้มกันให้นิสิตเป็นที่มีความรู้ความสามารถ ตอบโจทย์การทำงานของสังคม และเป็นคนดีของสังคมทั้งในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตโลกยุค VACA World” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ซึ่งกล่าวถึงการสนับสนุนให้นิสิตเรียนผ่านประสบการณ์ และการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการสอนของอาจารย์ที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เท่าทันกับยุคสมัยเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ได้กล่าวถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาไทยที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เพียงเพื่อการสอนนิสิตไทยให้สามารถพร้อมรับมือกับสังคมการทำงาน แต่ยังเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยจะเน้นหลักสูตรที่สามารถทำได้จริง และผู้เรียนสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ และ ศ.ดร.วุฒิพงศ์ อารีกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือแม้กระทั่งการพัฒนาของเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนของคณาจารย์ และการปรับตัวของนิสิตในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ โดยมีนายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรทางโทรทัศน์เป็นผู้ดำเนินรายการ

อีกทั้งยังมีเวทีสะท้อนความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน ในหัวข้อ “ผลกระทบการเรียนรู้ การปรับตัวในสถานการณ์วิกฤตโลกและการรับมือของนิสิตนักศึกษาในยุค VUCA World” โดยมี ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ นิสิตนักศึกษาได้สะท้อนความคิดในการปรับตัวและรับมือในยุค VUCA World ว่า จะต้องมีการบริหารจัดการเวลาที่ดี จัดลำดับความสำคัญในการเรียน การทำงาน รู้จักใช้ทักษะการสื่อสารและเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง โดยจะต้องรู้เท่าทันสื่อ มีความรับผิดชอบมีวินัยในตัวเอง มีจิตอาสา รู้จักการทำงานเป็นทีม มีเครือข่าย และจะต้องลงมือปฏิบัติจริง เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานคณะกรรมการประสานกิจเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เขตภาคกลาง กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายในครั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เข้าสู่โลกของ VUCA World สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถเพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีลักษณะเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์สังคมการทำงานในยุคปัจจุบัน โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลาง จะร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน กิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนนิสิตให้สามารถก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ส่งมอบหน้าที่การเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตอุดมคติครั้งถัดไปให้กับมหาวิทยาลัยสยาม เพื่อดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายฯ ประจำปี 2557