นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับคนไทยทั้งประเทศ หลังการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาร์ด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย  และเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยได้มีแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง

“เมืองโบราณศรีเทพ” จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือที่เราๆรู้จักคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.2527 

สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ”  นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย  ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.  2447

การเดินทางเข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบันซึ่งมีระยะทางจากกรุงเทพมหานครประมาณ  240  กิโลเมตรนั้น  สามารถกระทำได้โดยสะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง  โดยเดินทางตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  21 (กรุงเทพฯ – สระบุรี – เพชรบูรณ์)  แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211  หน้าที่ว่าการอำเภอศรีเทพ อีกประมาณ ๙  กิโลเมตรก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  สำหรับรถโดยสารประจำทางก็จะมีทั้งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1  รถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น ๒ และรถโดยสารประจำทางธรรมดา จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต  2 จตุจักร)  ซึ่งวิ่งขึ้น – ล่องตลอดทั้งวัน  แล้วลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ (บ้านกลาง) และต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

พื้นที่ที่มีการตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ   ในราวปลายพุทธศตวรรษที่  18 - ต้นพุทธศตวรรษที่  19  อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่าง    ต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน  ประกอบไปด้วยสองส่วนด้วยกัน   ส่วนแรกเป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ  ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  2,889 ไร่  หรือประมาณ 4.7  ตารางกิโลเมตร  มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย  แบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองเมืองที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกันที่พบในปัจจุบัน โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นเมืองรูปเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1.5  กิโลเมตร  มีช่องประตูเมือง  6  ช่องทางและมีโบราณสถาน  ซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ  40  แห่ง  อันมีโบราณสถานเขาคลังใน   โบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ  70  สระ  ในขณะที่  เมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ  1,589 ไร่  เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน  มีช่องประตูเมือง 6  ช่องทางและมีโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ ๕๔ แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ  30  แห่ง  มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมืองและ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ  ซึ่งเท่าที่สามารถสำรวจได้ในปัจจุบันนั้นมีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ  50  แห่งและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ  โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก เพจกรมศิลปากร