สวธ.ประกาศขึ้นทะเบียน 14 รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ “บ่อเกลือ-อุ้มพระดำน้ำ-เมรุลอย” ชวนคนไทยร่วมลุ้น “สงกรานต์” ประทับตรามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ยูเนสโกปลายปีนี้ ปลุกกระแส 77 เมนูอาหารถิ่น

วันที่ 21 ก.ย. 66 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ และสาธิตให้ความรู้ 77 เมนูอาหารถิ่น ซึ่งสวธ.ได้ คัดเลือก “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The lost Test” ประจำปี 2566 พร้อมกันนี้ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 14 รายการ มีดังนี้  1.บ่อเกลือ 2 ตำนานนางผมหอม 3.ตำนานหลวงพ่อพระใส 4.แห่นกบุหรงซีงอ 5.นาเกลือ 6.น้ำผักสะทอน 7.ผ้าไหมหางกระรอกโคราช 8.ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ 9.ผ้าโฮลสุรินทร์ 10.เมรุลอย 11.การเส็งกลองกิ่ง 12.การเล่นโหวด 13.เรือบก และ14.อุ้มพระดำน้ำ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายเสริมศักดิ์  รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาที่นำมาต่อยอดสู่ซอฟพาวเวอร์สร้างเศรษฐกิจชาติให้ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและคนไทยเกิดความรักและหวงแหนความเป็นไทย โดยหลังจากนี้วธ.พร้อมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐานผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น และคนในชาติมาสร้างคุณค่าทางสังคม ต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ผลักดันให้เกิดค่านิยม ที่มีอิทธิพลกับความคิดของสังคม และประชาชนในประเทศและต่างประเทศ

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีสวธ. กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ เป็นการ ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลไม่ให้ภูมิปัญญาต่างๆ สูญหายไป รวมทั้งจะนำไปสู่การพิจารณาคัดเลือก รายการต่างๆ ที่โดดเด่น มีคุณค่า นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งประเทศไทยได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนไปแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา โดยขณะนี้ประเทศไทยได้พิจารณารายการ เพื่อเตรียมขอขึ้นทะเบียนเบื้องต้น จากยูเนสโก ในปี 2567 จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ชุดไทยพระราชนิยม ประเพณีลอยกระทง และมวยไทย ที่สำคัญเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโกรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เข้าสู่วาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในเดือน ธ.ค.นี้ด้วย จึงขอให้คนไทยร่วมอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีไทยอันงดงามให้คงอยู่ และลุ้นการประกาศผลไปด้วยกัน

อธิบดีสวธ. กล่าวอีกว่า ภายในงาน นี้ สวธ. ยังได้รวบรวม 77 เมนูอาหารถิ่นประจำจังหวัด ที่กำลังจะเลือนหาย หาได้ยาก เพื่อนำมาสู่การยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ ขึ้นเป็นอาหารประจำจังหวัด และจัดสำรับประจำภาค ทั้ง 4  ภาค ซึ่งมองว่าอาหาร เป็นหนึ่งในซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปในตลาดโลกได้ ดังนั้นจะมีแผนโปรโมทอาหารถิ่น โดยใช้การสื่อสารรอบด้าน เพื่อต่อยอดและส่งเสริมเผยแพร่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับเมนูอาหารที่หายไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย เชิญชวนให้ไปตามรอยชิมรสชาติอาหารทั้ง 77 เมนู ด้วย

“ขณะเดียวกัน ได้รับรายงานว่าจากการที่ประกาศเมนูอาหารถิ่นไปแล้ว สามารถปลุกกระแสความนิยมอาหารถิ่นในจังหวัดต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม มีผู้คนสนใจตามรอยไปชิม จนเป็นเมนูที่ขายดี และยังมีการหาข้อมูลเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ขณะที่ผู้ประกอบการต่างๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าดีใจ และจัดให้เป็นเมนูจานเด็ดที่ต้องมาชิมในจังหวัดต่างๆ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดได้เป็นอย่างดี” นายโกวิท อธิบดีสวธ. กล่าว