"วันมหิดล" ตรงกับวันที่ 24 ก.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” (สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

ในวันมหิดลของทุกปี พระบรมวงศานุวงศ์มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493

เมื่อปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ "ที่ระลึกวันมหิดล - วันที่ 24 กันยายน" อยู่ส่วนบน และข้อความ "โรงพยาบาลศิริราช" อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่างๆ พิมพ์ภาพ(อยู่ซ้ายมือ)และข้อความ(เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ)เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์

ในปีถัดมา (พ.ศ. 2504) มีการผลิตธงเพิ่มเป็นสามขนาด โดยจะมอบธงขนาดใหญ่ ให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มธงสีเขียว พิมพ์ภาพและข้อความด้วยสีขาว อีกลักษณะหนึ่งด้วย จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 จึงเริ่มใช้สีธงตามวันในสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายน โดยในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ จึงผลิตธงด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้หลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเริ่มการจัดทำเสาไม้สีขาวพร้อมติดธง เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปอีกด้วย[4] ต่อมาภายหลัง ก็ยกเลิกการผลิตริบบิน และเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสติกเกอร์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีต่างๆ ซึ่งมีภาพและข้อความเช่นเดียวกันขึ้นทดแทน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ก็จัดเพิ่มวันออกหน่วยรับบริจาค เนื่องจากมีผู้บริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ธงที่ระลึกซึ่งเตรียมไว้ มีไม่เพียงพอกับการมอบให้ผู้บริจาค กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล (ก่อตั้งเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ด้วยชื่อเริ่มต้นว่า กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) จึงร่วมแรงร่วมใจกันช่วยจัดทำ จนมีพอเพียงกับความต้องการของผู้บริจาค ในปีต่อมา โรงพยาบาลศิริราชจึงจัดจ้างกลุ่มอาสาฯ ให้เป็นหน่วยหลักในการผลิตธงที่ระลึก มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน กิจกรรมออกหน่วยรับบริจาค ของคณะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลศิริราช จะนำเงินเข้าสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ (ก่อตั้งเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512) โดยเมื่อบริจาคตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลขนาดใหญ่ เมื่อบริจาคตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลพร้อมเสาธง เมื่อบริจาคตั้งแต่ 20 บาท จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดล และเมื่อบริจาคสมทบทุน จะได้รับสติกเกอร์ที่ระลึกวันมหิดล

และในวันนี้ (24 กันยายน 2566) ที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อยู่บนแท่นฐานเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วางพวงมาลาถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล 24 กันยายน

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติ ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์ พระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข มาตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อการศึกษาและค้นคว้า รวมทั้งเพื่อการก่อสร้างตึกต่าง ๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช อีกทั้งทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพมหานคร และทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล พระราชทานทุนส่งคนไปศึกษาต่างประเทศ ทรงงานด้านการประมงและการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อโภชนาการที่ดีของคนไทย พระราชทานทุนให้กับโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ยังทรงมีพระอัจฉริยะภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา การต่างประเทศ การทหารเรือ และศิลปะ โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้มีมติถวายพระเกียรติยศให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพ 100 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์สุขของผู้อื่นตลอดพระชนม์ชีพอีกด้วย เหล่าบุคลากรสาธารณสุขและปวงชนชาวไทย ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและมุ่งมั่นเจริญรอยตามพระปณิธานที่ได้พระราชทานไว้ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ตลอดไป

ขอบคุณรูปภาพจาก

https://www.royaloffice.th/