มินเทล บริษัทด้านข้อมูลตลาดระดับโลก ได้เผยผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่ดีเพื่อสุขภาพของคนไทย โดยเน้นถึงวิธีการที่แบรนด์ต่างๆ จะสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี

ผลวิจัยของ มินเทล เผยให้เห็นว่าแรงบันดาลใจด้านสุขภาพกับพฤติกรรมที่แท้จริงของคนไทย มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้จะเข้าใจถึงความสำคัญของการมีไลฟ์สไตล์ที่ดี แต่มากกว่า 1 ใน 3 (35%) ของคนไทยกลับเผชิญอุปสรรคต่อแผนการออกกำลังกายที่ตั้งไว้

คนไทยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (32%) ยังกล่าวว่า พวกเขาไม่มีเวลาพอสำหรับกิจกรรมเพื่อสุขภาพด้วย ยิ่งไปกว่านี้ คนไทยมากกว่า 2 ใน 3 (67%) ยังเห็นด้วยว่าทุกอย่างจะง่ายขึ้นเมื่อได้ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพร่วมกันกับคนอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่แบรนด์ต่างๆ จะเสนอทางเลือกที่เป็นประโยชน์และดีต่อสุขภาพ โดยการผสานวิถีทางสุขภาพเข้ากับชีวิตประจำวันให้อย่างลงตัวมากขึ้น นับว่าเป็นการกระตุ้นการสร้างนิสัยที่ดีด้วย กล่าวโดย ดร. วิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา (ไข่มุก) นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสด้านไลฟ์สไตล์ บริษัท มินเทล ประเทศไทย

ขณะที่ทุกคนกังวลกับเศรษฐกิจโลก แบรนด์ด้านสุขภาพต่างๆ ยังคงต้องตระหนักถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่อยากจะมีสุขภาพที่ดี โดยคนไทยกว่า 75% กังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การจ่ายเพื่อสุขภาพ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ชื่นชอบแบรนด์ที่มีข้อมูลที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน ซึ่งคนไทยเกิน 3 ใน 4 (78%) เห็นด้วยว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีการรองรับด้วยหลักฐาน มีความน่าเชื่อถือมากกว่าความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากโรคระบาดเป็นแรงผลักดันให้มีการดูแลตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันและรับมือกับโรคร้ายและสร้างสุขภาพดีที่ทุกคนต้องการ

ดร. วิลาสิณี กล่าวว่า ผลวิจัยของเราพบว่า 70% ของผู้บริโภคชาวไทยเผยว่าการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพคือการที่ผู้บริโภคสามารถเพลิดเพลินไปกับอาหารโดยไม่ต้องนับแคลอรี่ ดังนั้นแบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพเป็นอีกทางเลือก เช่น ผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำ ปราศจากน้ำตาล หรือออร์แกนิก จะตอบโจทย์ตลาดเเนื่องจากเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคได้มีสุขภาพที่ดีพร้อมกับบริโภคอาหารที่อร่อย

นอกเหนือจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ผลวิจัยของมินเทลยังเผยให้เห็นถึงมุมมองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคทราบถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสภาวะทางร่างกายและจิตใจ โดยปัญหาสุขภาพที่เกิดอย่างต่อเนื่องในไทยนั้นมาจากความเครียด และกว่า 76% แจ้งว่าการรับประทานของหวานจะทำให้อารมณ์ดีขึ้น รวมถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายก็ถูกนำมาใช้เป็นกิจวัตรที่ช่วยให้สามารถดูแลตัวเองและสร้างความผ่อนคลายได้

"คนไทยรู้วิธีรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แต่การเริ่มต้นปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ดังนั้นแบรนด์จะสามารถสร้างความความพึงพอใจให้เพิ่มขึ้นได้โดยการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเรื่องเล็กๆ ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ผลวิจัยของเราระบุว่า 86% ของคนไทยหาความสุขในทุกด้านของชีวิต ด้วยประการนี้แบรนด์ต่างๆ จึงควรจับจุดและสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนมีสุขภาพดีโดยการเสนอรางวัลในรูปแบบของคะแนน บัตรกำนัล หรือส่วนลด ประกอบกับการที่คนไทย 65% ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ และ 77% กระตือรือร้นที่จะหาวิธีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจึงเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้"

ดร. วิลาสิณี กล่าวต่อว่า คนไทยไม่ได้มองหาสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว ดังนั้นการที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนคือแนวทางที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า ส่วนคนที่อายุน้อย โอกาสที่จะเคร่งครัดกับการดูแลสุขภาพก็น้อยลง ซึ่งการที่ทำให้กระบวนการต่างๆ สนุกขึ้นนั้น ก็สามารถเป็นกุศโลบายที่แบรนด์ต่างๆ สามารถสร้างสถานการณ์แบบ win-win ได้โดยทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมและมีความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น