New Gen ในปัจจุบันกำลังก้าวสู่ความท้าทายครั้งสำคัญในการเป็น The Next Gen ที่จะเข้ามาเติมเต็มไปพร้อมกับการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และก้าวข้ามกระแสคลื่นดิจิทัลดิสรัปชัน ที่มีการปรับตัวอยู่เสมอได้ ในด้านการศึกษาไทยโดยเฉพาะ สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา จึงต้องเป็นเสมือนพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อลับคมความรู้และเติมเต็มประสบการณ์แก่คนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมก้าวสู่การเป็น “บุคลากรคุณภาพ” รับการแข่งขันตลาดแรงงานยุคดิจิทัลได้ในอนาคต

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก (The World Master of Innovation) ซึ่งในวันนี้ พร้อมก้าวไปอีกขั้นกับการทรานส์ฟอร์มสถาบันให้เป็นได้มากกว่า “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” ด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนและสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน  ประจำปีการศึกษา 2567 - 2568 รับปีที่ 64 ของสถาบัน

ศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. ให้ความสำคัญในการผลิต “คนคุณภาพ” เสิร์ฟภาคอุตสาหกรรม ที่นอกจากจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางแล้ว ยังต้องมีมุมมองที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ (Life Long Learner) อยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมรับในทุกโอกาสที่เข้ามาในเส้นทางการทำงาน หรือสามารถกระโดดเข้าสู่เส้นทางอาชีพใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ในปีนี้จึงได้กำหนด 4 แพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีพครอบคลุมการบริหารงานและพัฒนาสถาบัน ดังนี้

1. KLLC & GLOBAL INNOVATION ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ‘คนไทยทุกเจน’ ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ KLLC โดยความร่วมมือกับสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KLLC) ที่มัดรวมเนื้อหาหลักสูตรและกิจกรรมที่น่าสนใจมากกว่า 100 กิจกรรม เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่คนไทยในทุกเจนเนอเรชัน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ อาทิ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University) โครงการเรียนล่วงหน้าเก็บเครดิต หลักสูตรอัพสกิลใหม่ๆ สำหรับวัยเรียน-วัยทำงาน และโครงการสูงวัยแอคทีฟ (KMITL Elderly School)

2. DIGITAL AND SMART UNIVERSITY ยกระดับ ‘งานบริหาร’ และออกแบบหลักสูตรแนวใหม่ ด้วยบิ๊กเดต้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักบริหารข้อมูลดิจิทัล (KMITL Data Management Center: KDMC) และสำนักทะเบียนและประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการนักศึกษาให้สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ภายในสถาบันได้ดียิ่งขึ้น เช็คตารางเรียน ทำธุรกรรมดิจิทัล รวมถึงการพัฒนารูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับเทรนด์และความสนใจของคนรุ่นใหม่ อาทิ Skill Mapping เอไอวิเคราะห์ทักษะสำคัญที่ตลาดต้องการ และ KMCH Telemedicine แพลตฟอร์มขอคำปรึกษา-ติดตามอาการกับหมอ รพ.เจ้าคุณทหารลาดกระบัง แบบออนไลน์

3. SUSTAINABLE UNIVERSITY สจล. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยติดตั้งระบบ Solar Roof ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่ KLLC และหอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษา และสังคม โดยตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล. จะ ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ สำหรับประเทศไทย ภายในปี 2050 สจล.จึงได้ประกาศ ‘นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 9 ข้อ’ ของสถาบันแก่นักศึกษา บุคลากร นักวิจัย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมลงมือการดำเนินการจัดการ คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของสถาบัน และมุ่งสู่การลดปริมาณขยะ ด้วยหลัก 3R

4.  EXPANDING HORIZONS เสริมอาวุธให้คม แพลตฟอร์มความร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบัน เช่น โครงการ KOSEN – KMITL (สถาบันโคเซ็นแห่งสจล.) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือจากรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ที่มุ่งสร้างนักนวัตกรเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน EEC และร่วมมือกับ NIT ( National Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาของสถาบันฯ  โครงการความร่วมมือกับ IBM บริษัทด้านไอทีระดับโลก พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม IBM SkillsBuild เน้นการส่งเสริมการพัฒนา Soft Skills ตามความต้องการเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจความต้องการของนักศึกษา และพบว่า 5 ทักษะหลักที่นักศึกษา สจล. ต้องการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะดิจิทัล, การสื่อสารดิจิทัล, คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์, ความเป็นผู้นำและการแก้ปัญหา และการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม