“ปัจจุบันปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่นาสวนผสม หลังจากต้องอพยพย้ายพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน เนื่องจากเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ทำกินเดิมอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ทางการจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้ที่บ้านเนินศิลา หมู่ที่ 7 ต.ชัยบาดาล อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี บนพื้นที่ 3 ไร่ โดยปลูกพืชผสมผสานทั้งไม้ผลพืชผัก เช่น กล้วย มะนาว ฝรั่ง พริก มะเขือ ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบ กะเพรา มะละกอ เก็บผลผลิตขายมีรายได้วันละประมาณ 700 บาท นับว่าเพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว” นายพรเทพ ใหญ่ยิ่ง  เกษตรกรบ้านเนินศิลา หนึ่งในผู้ที่เสียสละพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมในวงกว้าง

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เก็บกักน้ำที่กว้างยาว และลึกที่สุดในประเทศไทย เกิดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำป่าสัก และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2537 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2541 และได้พระราชทานนามเขื่อนว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สำหรับ ต.ชัยบาดาล อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี นั้นได้มีการก่อสร้างบ่อน้ำที่สูบน้ำจากโครงการสถานีสูบน้ำไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านชัยบาดาลยุคใหม่ มาเก็บกักเพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับราษฎรได้ใช้ประโยชน์ บริเวณขอบคันที่ราบน้ำท่วมถึงจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ห่างจากร่องแม่น้ำป่าสัก (เดิม) ประมาณ 700 เมตร มีความลาดชันน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค แต่เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของราษฎรอยู่บนที่ราบเนินเขา หรือที่สูง ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ ต้องสูบน้ำขึ้นไปใช้และไม่มีอาคารเก็บกักน้ำอื่นๆ ที่ผ่านมาราษฎรอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จึงทำให้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำประเภทสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า  เพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริมช่วยเหลือการเพาะปลูกในฤดูฝนไปจนถึงฤดูแล้ง การเลี้ยงสัตว์ และการอุปโภคบริโภคของราษฎร ประมาณ 600 ครัวเรือน ประชากร 1,800 คน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเสริมเพื่อปลูกข้าวในฤดูฝน และฤดูแล้ง ประมาณ 2,500 ไร่ ได้อย่างเพียงพอ ช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

“น้ำคือปัจจัยพื้นฐานในการทำการผลิต หลังจากมีน้ำสมบูรณ์ทุกคนต่างทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีรายได้อย่างต่อเนื่อง รู้สึกปลาบปลื้ม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านพระราชทานโครงการมาให้ เกษตรกรได้มีน้ำทำให้มีกินมีใช้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกวันนี้ก็เพราะพระองค์ท่านให้การช่วยเหลือ” นายพรเทพ ใหญ่ยิ่ง กล่าว

ด้าน นายอมร ศรีเมฆ ราษฎรหมู่ที่ 5 ต.ชัยบาดาล อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ (กลุ่มป่าสักรวมใจ)ในโครงการต่อยอดการใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ราษฎรในพื้นที่เดิมปลูกมันสำปะหลัง แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่มีเงินลงทุนเพาะปลูกใหม่ จึงหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยปลูกผักกับไม้ผลร่วมกัน “พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรจะแบ่งออกเป็นที่อยู่อาศัย ขุดสระน้ำเก็บไว้ใช้ เลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลูกไม้ประดับเป็นบอนสี แคคตัส ปลูกชะอม กะเพรา มะละกอ มะขามเทศ ลำไย น้อยหน่า และกล้วย มีรายได้เฉลี่ย 300 – 1,000 บาท ต่อวัน สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียง”

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีสูบน้ำไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านชัยบาดาลยุคใหม่ เพื่อติดตามโครงการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ทำกินของราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ