ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

มนุษย์ใช้ความฝันเป็นแรงบันดาลใจ หล่อเลี้ยงชีวิต และระบายสีสันให้โลกนี้น่าอยู่

วันเวลาผ่านไปอย่างช้า ๆ และยิ่งช้ามากขึ้นเมื่ออยู่ท่ามกลางความว้าเหว้เงียบเหงาในต่างบ้านต่างเมือง กว่าที่ศศิมาจะปรับความรู้สึกได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี เมื่อเห็นว่าคงจะดิ้นรนกลับประเทศไทยด้วยตนเองไม่ได้ จึงตัดสินใจว่าจะพยายาม “กอบโกย” ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะได้เป็นประโยชน์จากการต้องมาทุกข์ทรมานอยู่ที่เยอรมนี ดีกว่าที่จะปล่อยชีวิตให้ลอยจมไปในความเศร้าโศกสิ้นหวัง

ศศิมาเมื่อทำใจได้ก็ยอมรับสภาพว่า ที่แท้ฝรั่งคนนี้ให้เธอมาเยอรมนีเพื่อเป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุ คือคุณแม่ของเขานั่นเอง โดยมูลนิธิแห่งหนึ่งในประเทศไทยออกใบรับรองให้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุมชนสงเคราะห์ที่นั่นก็เชื่ออย่างสนิทใจ ทั้งยังได้เข้ามาอธิบายบทบาทหน้าที่ของเธอในการช่วยดูแลผู้สูงอายุที่เธอไม่เคยมีมาก่อนนั้นให้เธออย่างเต็มที่ อาศัยว่าเธอเคยคลุกคลีกับผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกบ้าน และการเอาอกเอาใจให้บริการลูกค้าที่ร้านอาหาร ร่วมกับความเอาใจใส่และตั้งใจที่จะรับความรู้ ทำให้เธอสามารถเรียนรู้ได้อย่างด้วยเร็ว โดยการสื่อสารผ่านภาษาอังกฤษที่เธอมีความรู้เพียงพอพูดและอ่านได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามสอนเธอด้วยภาษาเยอรมันผสมกับภาษาอังกฤษ ทำให้เธอได้เรียนรู้ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมันนั้นได้ทีละเล็กละน้อย จนเวลาผ่านไปสัก 2 ปี ก็สามารถสื่อสารทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมันนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะเป็นด้วยความตั้งใจจริงอันเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวเธอมานั่นเอง

เมื่อสื่อสารกับคนเยอรมันได้ดีขึ้น ทำให้ศศิมากล้าที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก โดยเฉพาะออกไปพูดคุยและมีกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนบ้านแถวละแวกที่อยู่ เธอได้พบว่าอาหารเยอรมันมีหลายอย่างที่คล้าย ๆ อาหารทางภาคเหนือของไทย เช่น อาหารที่ทำจากหมู ไส้อั่ว และผักดอง ซึ่งเธอได้ทำอาหารของภาคเหนือนี้ไปให้เพื่อนบ้านได้รับประทาน แล้วเพื่อนบ้านก็ช่วยสอนอาหารฝรั่งหลาย ๆ ชนิดเป็นการแลกเปลี่ยน ทำให้เธอเกิดความสนใจที่จะพัฒนาฝีมือในการทำอาหารให้ได้หลาย ๆ อย่าง ซึ่งเธอก็ทำได้ดีเป็นที่ชื่นชมของคนที่ได้ชิมฝีมือ

ในบางครั้งเธอได้เข้าไปในเมือง ทั้งที่ฝรั่งคนนี้ได้พาไป และที่เธอได้ใช้เวลาว่างไปด้วยตนเอง ทำให้เธอได้พบกับกลุ่มคนไทยในหลาย ๆ อาชีพที่ไปทำงานที่นั่น ซึ่งเธอก็ได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มในการติดต่อเพื่อช่วยเหลือกันและกัน เธอได้เจอกับสาว ๆ ที่มาจากภาคเหนือหลายคน บางคนก็มาทำงานในบ้านแบบเธอ แต่บางคนก็ถูกล่อลวงมาให้ทำอาชีพขายบริการ แต่เมื่อรู้ว่าเสียรู้แล้วก็ต้องปรับตัวปรับใจ ด้วยการเข้าสู่ระบบให้มีการรับรองให้ถูกกฎหมายเสีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องดิ้นรนลำบาก และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายนั้นด้วย แต่ส่วนใหญ่คนที่มาทำงานในเยอรมนีมักจะต้องผ่านกระบวนการทำให้ถูกกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเธอมาทราบภายหลังว่าหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ตั้งแต่มารวมกันเป็นสหภาพยุโรปนั้น เขาจะใช้ระบบกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการรับรองสิทธิของบุคคลและความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ที่ส่งผลถึงคนต่างชาตินั้นด้วย ทำให้การทำงานทุกอย่างที่มีกฎหมายรองรับจะได้รับการคุ้มครองและดูแลจากรัฐเป็นอย่างดี

ย่างเข้าปีที่ 6 ในช่วงก่อนคริสต์มาสของปีนั้น แม่ของฝรั่งที่พาเธอมาก็เสียชีวิต เธอได้บอกกับฝรั่งว่าเธออยากกลับบ้าน เขาก็ยอมให้ด้วยดี ทั้งยังให้รางวัลเป็นพิเศษอีกจำนวนหนึ่งด้วย เมื่อรวมกับเงินเก็บที่เธอได้รับทุก ๆ เดือนก็เป็นจำนวนมากพอสมควร แม้ว่าส่วนใหญ่เธอจะส่งไปให้พ่อกับแม่ที่ลำพูน แต่เมื่อเธอกลับมาอยู่ที่บ้านแล้วเธอก็นำเงินที่เธอมีอยู่นั้นมาทำอะไรได้มากมาย

ตอนที่เธอกลับมา นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวประเทศไทยมากกว่าแต่ก่อนมาก เธอไปเช่าตึกแถวแถวประตูช้างเผือกเปิดเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ ขายอาหารจำพวกสแน็คหรือของว่างฝรั่ง เช่น แซนด์วิช ฮอตดอก สลัด และแฮมเบอร์เกอร์ ขณะเดียวกันก็ทำใส้กรอกโฮมเมดไปฝากวางขายในร้านที่ขายของสดและมินิมาร์ต ซึ่งก็ได้ลูกค้าประจำอยู่พอสมควร เธอจ้างหนุ่มสาวแถวบ้านมาช่วยงาน เพราะหนุ่มสาวพวกนี้ดูจะกระตือรือร้นดีกว่าคนที่มีอายุ แตกต่างจากที่ทางราชการชอบส่งเสริมให้ตั้งกลุ่มแม่บ้านหรือผู้สูงอายุ ที่มาทำงานเอาสนุกแก้เหงาหรือพอให้ไม่ว่างมือมากกว่า แต่คนหนุ่มสาวจะตั้งใจทำงานเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว ที่สำคัญคนหนุ่มสาวนั้นชอบเรียนรู้ สอนให้ทำอะไรก็เข้าใจโดยเร็ว จะแก้ไขหรือพัฒนาไปในทางใดก็ทำได้ง่าย ในขณะที่ผู้สูงวัยมักจะมีคำถามและข้อสงสัยมากมาย และมักจะไม่ค่อยเชื่อหรือทำตาม โดยเฉพาะกับนายจ้างที่เป็นเด็กอย่างเธอ ที่แย่ไปกว่านั้นคือตามไม่ทันโลกสมัยใหม่ อาหารสากล และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ศศิมาใช้การบริหารแบบสมัยใหม่ทั้งที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยไหน อาศัยสังเกตเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ที่ไปอยู่เยอรมนี แล้วพอเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเธอก็ไปหาเพื่อนเก่าที่เขาเคยทำงานบริษัทและจบด้านการเงินการบัญชีให้ออกมาช่วยเธอทำร้าน จนสามารถเปิดเป็นบริษัทได้ในที่สุด แล้วเธอก็เรียนเรื่องการตลาดกับการประชาสัมพันธ์จากอินเทอร์เน็ต รวมถึงพวกโซเชียลมีเดีย และการขายออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงที่มีการลองผิดลองถูกและเสี่ยงดูบ้าง ก็สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและตั้งตัวได้อย่างมั่นคง

พอชาวบ้านเห็นเธอมีฐานะดีและร่ำรวยขึ้น เธอก็ได้รับการชักชวนให้ร่วมทำการกุศลหลายอย่าง ส่วนมากจะเป็นเรื่องการกุศลของวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ ฯลฯ ซึ่งเธอก็ร่วมทำไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ จนชาวบ้านบอกว่าเธอขี้เหนียวและทำตัวไม่สมฐานะ ซึ่งเธอก็จะบอกกับคนที่สนิท ๆ กันว่า เธอเห็นว่าการสร้างกุศลแบบนั้นดูไม่ค่อยยั่งยืน เพราะเธอสังเกตมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าการทำบุญกับวัด ดูจะไม่คุ้มกับเงินที่ให้ไป เช่น สร้างอะไรที่ใหญ่โตและเป็นการอวดความอลังการของวัดมากกว่า ทั้งยังเน้นไปในเรื่องของการสร้างวัตถุมงคลหรือพุทธพาณิชย์ แต่ปล่อยให้หมาแมวเต็มวัด โดยไม่ได้จัดการให้ดูเรียบร้อย เช่น ทำหมันหรือฉีดวัคซีน ยิ่งไปกว่านั้นก็ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างที่คนทั่วไปนินทาว่า “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” คือมีการโกงกินกันมากนั่นเอง

เธอเห็นว่าการทำบุญต้องทำกับคนหรือสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่ตัวอาคารสถานที่หรือวัตถุ เธอบอกให้ชาวบ้านปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ปุ๋ยก็ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ พวกมูลสัตว์และปุ๋ยหมัก โดยเธอออกทุนให้ทำตามกระบวนการที่เธอค้นคว้ามาจากอินเทอร์เน็ต แล้วเธอก็ให้รับซื้อพืชผักจากสวนที่ปลูกแบบนี้ รวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหารซึ่งก็เลี้ยงด้วยพืชผักอินทรีย์นี้เช่นกัน เธอเชิญชวนให้ร้านอาหารหลายแห่งติดป้ายบอกลูกค้าว่าร้านอาหารเหล่านั้นใช้วัตถุดิบที่ปลูกและเลี้ยงแบบอินทรีย์ โดยธรรมชาติและปลอดสารพิษ ทำให้ร้านอาหารเหล่านั้นขายดีขึ้น ในขณะเดียวกันเธอก็ไปให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมดี ๆ หรือคิดค้นสิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม เช่น การจับแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเธอก็ทำตามสมควร ไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้าเอาตา แต่ทำเพื่อ “กระตุ้น” ซึ่งเธอบอกว่าเพื่อเป็น “สารเริ่มต้น” ให้แก่เยาวชนในการกระทำสิ่งดี ๆ ต่อสังคมให้มากขึ้น ๆ ต่อ ๆ ไป

เธอบอกว่าแม้ความฝันที่เธอเคยฝันไว้ตั้งแต่ยังเป็นสาว ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ คือฝันอยากเป็นแม่ครัวฝีมือดี มีชื่อเสียง มีร้านอาหารใหญ่โต มีคนมาทานมาก ๆ แต่สิ่งที่เธอทำมาหลาย ๆ ปีนี้ก็อาจจะเป็นฝีมือ “แม่ครัวศศิมา” อีกแบบหนึ่ง ได้เช่นกัน คือการ “ปรุงสังคม” ทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ด้วยการแนะนำให้ทุกคนทำสิ่งดี ๆ แก่กัน เหมือนการนำวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสดี ๆ มาผสมกัน จนเป็นอาหารมื้ออร่อย มีประโยชน์ต่อผู้คนและชุมชน

ฝันของคนตัวเล็กตัวน้อย เมื่อรวมกันแล้วก็มีพลังมหาศาล สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างได้เสมอ