ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

บางครั้ง “พรหมประดิษฐ์” ก็ส่งผลกว้างไกล มากกว่า “พรหมลิขิต” ที่ส่งผลเพียงคนที่รักกัน

 อมรกับเอมอรอาจจะถูก “พรหมลิขิต” กำหนดให้ทั้งสองเกิดมาอยู่คู่กัน และหากพรหมลิขิตทำงานได้ดีเป็นปกติ ก็ควรที่จะกำหนดให้ทั้งสองมีทายาทสืบตระกูลและสร้างครอบครัวต่อไป แต่นี่หากพรหมลิขิตไปดำเนินไปตามครรลองนั้น ทั้งสองจึงต้องขวนขวายสร้างชีวิตครอบครัวด้วยตนเอง อย่างที่เขาทั้งสองเรียกว่า “พรหมประดิษฐ์” ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างครอบครัวของเขาทั้งสองให้ยืนยงคงอยู่ต่อไป แต่ยังได้สร้างสังคมรอบนอกที่ดูท่าว่าจะยืนยงคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปนั้นด้วย

โครงการชุมชนสงเคราะห์ที่บริษัทของอมรและเอมอรได้จัดทำ แต่แรกคิดว่าอาจจะยากที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพราะแม้แต่โครงการที่หน่วยงานราชการลงมือทำก็ดูลุ่ม ๆ ดอน ๆ หลายโครงการล้มเลิกไป และหลายโครงการก็เป็นแค่ผักชีโรยหน้าหรือไฟไหม้ฟาง คือทำเพื่อโชว์เอาหน้าเอาตาหรือให้ฮือฮาเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ที่อมรและเอมอรทำด้วยหลักของการสร้างความร่วมมือในชุมชน พร้อมกับไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้าหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัทหรือตัวคนทำ ก็ทำให้ความร่วมมือมีความแน่นเหนียว แผ่ขยายออกไป และเติบโตก้าวหน้า จนพอจะมั่นใจได้ว่าน่าจะมีความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

โครงการนี้เริ่มต้นด้วยการพูดคุยและประชุมหารือกับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู พระสงฆ์ และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ โดยเจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่ของบริษัท ที่มีอดีตเป็นคนในพื้นที่ ร่วมด้วยทีมงานที่เข้าใจชีวิตชนบท เกิดและเติบโตมาในชนบท รวมถึงเคยทำงานค่ายอาสาในพื้นที่ชนบทตั้งแต่ตอนที่เป็นนักศึกษานั้นด้วย จึงทำให้คนในพื้นที่มีความเชื่อถือและไว้วางใจ อนึ่งเนื่องจากว่าพื้นที่ปฏิบัติ

การคือที่ในโรงเรียน คนที่ต้องช่วยมากที่สุดก็คือคุณครูในโรงเรียนนั่นเอง แต่เนื่องจากคุณครูมีภาระมาก การเพิ่มภาระเข้ามาอย่างนี้คงต้องมีสิ่งตอบแทนให้ตามสมควร อมรจึงได้ใช้ความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในหลาย ๆ กระทรวง โดยเฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะให้การทำโครงการชุมชนสงเคราะห์นี้เป็นกิจกรรมที่จะเป็นตัวชี้วัด เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ ทั้งในกระบวนการเรียนการสอนของนักเรียนและคุณครู รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งหรือปรับเงินเดือนนั้นด้วย ทำให้โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากคุณครูด้วยดี รวมทั้งที่มีโรงเรียนอื่น ๆ ได้ขอมาเรียนรู้ไปเป็นตัวอย่าง ด้วยการไปหาความร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่น ก็ทำให้มีคนเข้ามาช่วยในโครงการนี้มาก

ขึ้น และดูเหมือนว่าจะทำให้การสร้างอาชีพให้นักเรียน จะได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ของระบบการศึกษาในยุคใหม่ ที่จะต้องถือว่าได้ขยายผลออกไปช้า ๆ ที่ละเล็กละน้อย อย่างที่ไม่เคยคาดหวังไว้ตั้งแต่แรก

อย่างที่ทราบกันว่า ในพื้นที่ชนบททางภาคเหนือและภาคอีสาน ปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนอย่างหนึ่ง(โดยเฉพาะเยาวชนหญิง)ก็คือ “การตกเขียว” อันเนื่องมาจากความยากจน ทำให้บางครอบครัวต้องให้ลูกสาว

ออกไปหางานทำ และงานหลาย ๆ อย่างก็มีความสุมเสี่ยงที่จะทำให้เด็กสาวเหล่านั้นพบเจอในสิ่งที่ไม่ดี เช่น ไปทำงานบ้าน แต่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่สุดก็ไปทำงานเป็นหญิงบริการ เช่นเดียวกัน กับที่มีคนมาคุยกับพ่อแม่ขอไปทำงานต่าง ๆ แต่ก็ต้องจบลงด้วยอาชีพขายบริการทางเพศนั้น แต่ที่รุนแรงยิ่งไปกว่านั้นก็คือบางครอบครัวพ่อแม่ไปก่อหนี้สิน ต้องเอาลูกสาวไปขายเพื่อแลกกับเงินมาใช้หนี้ กลายเป็นการบังคับรวมถึงสร้างค่านิยมที่เลวร้ายขึ้น

โครงการชุมชนสงเคราะห์ด้วยการสร้างอาชีพให้กับเยาวชนในโรงเรียน ส่งผลต่อการลดลงของปัญหาตกเขียวนั้นอย่างน่าประหลาดใจ ในช่วงเวลายี่สิบกว่าปีที่โครงการนี้ได้ดำเนินไป ตัวเลขที่มูลนิธิบางแห่งที่ทำโครงการเกี่ยวกับการช่วยเหลือหญิงสาวในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ได้แจ้งว่าผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ไปทำอาชีพบริการนั้นลดลงเรื่อย ๆ  ที่ชัดเจนมาก ๆ ก็คือในจังหวัดที่มีโครงการสร้างอาชีพให้กับเยาวชนนั้น ในขณะที่รายงานการวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ก็บอกว่าโครงการนี้มีผลต่อการสร้างทางเลือกใหม่ในอนาคตและอาชีพของเยาวชนจำนวนหนึ่ง แต่กระนั้นเมื่อไปศึกษาเยาวชนในเขตเมือง กลับพบว่าการทำงานในอาชีพเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นไปด้วยความสมัครใจกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะลัทธินิยมความฟุ้งเฟ้อ

ของเยาวชนในเขตเมือง ที่ต้องหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย และใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงในลักษณะนั้น

ต่อมาก็มีสื่อมวลชนบางแห่งที่ทราบเรื่องโครงการนี้ ได้ขอเข้าสัมภาษณ์อมร (ความจริงคือผ่านเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการนี้ของบริษัท แต่เขาก็ได้รายงานให้กรรมการบริษัททราบ รวมถึงอมรนั้นด้วย) ตอนแรกเขาก็อยากจะให้สัมภาษณ์เหมือนกัน เพราะอยากให้โครงการนี้ได้เผยแพร่ออกไปให้มาก ๆ จะได้มีคนมาทำตามหรือร่วมทำโครงการนี้มาก ๆ แต่ก่อนจะให้สัมภาษณ์ไม่กี่วัน เขากับเอมอรก็ไปทานอาหารที่อยุธยา ขากลับได้แวะไหว้พระที่วัดเล็ก ๆ ที่บังเอิญผ่านไป เมื่อเข้าไปในโบสถ์ก็เข้าไปกราบพระประธาน แวบแรกที่เงยหน้าขึ้นมาก็มองเห็นด้านหน้าองค์พระ ก็เห็นว่าเป็นพระทองเหลืองธรรมดา แต่พอเดินไปด้านหลังที่มีประตูโบสถ์เปิดรับแสงยามบ่ายนั้น ก็พบว่าผิวด้านหลังองค์พระมีคนไปปิดทองเต็มไปหมด พอดีที่คุณลุงคนหนึ่งเดินผ่านมา คงจะเห็นว่าอมรยืนจ้องด้านหลังองค์พระอยู่เป็นเวลานาน จึงเข้ามาถามว่ามีอะไรไหม อมรก็บอกถึง

ความสงสัยอย่างที่เขาได้เห็น ว่าเขาเคยเห็นแต่คนปิด

ทองทั่วองค์พระ ไม่ใช่มาปิดแต่หลังพระอย่างที่เห็นอยู่นี้ คุณลุงคนนั้น(ที่อมรเชื่อว่าเป็นมัคนายกหรือคนที่มาช่วยดูแลวัด)ตอบว่า “แต่แรกทางวัดไม่ให้ปิดทองที่องค์พระ จะเห็นว่าวัดมีขายดอกไม้ธูปเทียน แต่ไม่มีแผ่นทองเปลวให้ แต่หลวงพ่อท่านก็มาพบว่าที่หลังพระนี้มีคนปิดทองมากขึ้นทุกวัน คงจะเป็นทองที่แต่ละคนหามาเอง ต่อมาท่านก็ถามโยมที่สนิทสนมกันบางคนว่าได้มาปิดทองแบบนี้ด้วยหรือไม่ เขาก็ตอบว่าปิดครับ แล้วก็ให้เหตุผลว่า ด้านหลังองค์พระนี้แดดส่องทุกวัน ด้านหลังท่านจึงหมอง หลายคนคงเห็นและมาช่วยกันปิดทอง”

อมรไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อตามที่นัดหมายไว้แต่อย่างใด และต่อมาแม้จะมีสื่อต่าง ๆ มาขอสัมภาษณ์เขาก็จะตอบปฏิเสธไปเสมอ แต่ก็ได้ให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทให้ข้อมูลไปเท่าที่สื่อนั้นต้องการ แต่ห้ามไม่ให้มีการเสนอหน้าเป็นข่าวหรือให้ข้อมูลด้วยตัวบุคคล รวมถึงที่กรรมการบริษัทบางคนขอให้มีการจัดงานฉลองความสำเร็จของโครงการ อย่างหนึ่งก็เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงของบริษัท แต่อมรก็ไม่เห็นด้วย

หลายท่านคงรู้จักสำนวน “ปิดทองหลังพระ” ว่าหมายถึงการทำความดีอย่างเงียบ ๆ หรือทำอยู่เสมอแต่ไม่ชอบให้ใครมารู้มาเห็น หรือทำดีแต่ไม่ชอบโอ้อวดและ

แสดงออกเพื่อเอาหน้าเอาตาหรือเอาดีเด่นดัง แต่สำหรับอมรและเอมอรกลับตีความหมายไปอีกแบบหนึ่ง คือการปิดทองหลังพระนั้นก็เพื่อ “ซ่อมแซม” ส่วนที่สึกหลอที่ซ่อนเร้นอยู่ อย่างที่คนไปปิดทองด้านหลังพระประธานองค์นั้น เพราะด้านหลังชำรุดมัวหมอง

สังคมนี้ก็เหมือนองค์พระ ส่วนมากผู้คนมักจะมองเห็นแต่ “ด้านหน้า” ของสังคม ที่แต่ละคนก็มักจะชอบแต่จะนำเสนอแต่ด้านดี ๆ สวย ๆ งาม ๆ ของแต่ละคน แต่กลับมองไม่เห็น “ด้านหลัง” ของสังคม หรือผู้คนที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ “ซ่อมแซม” ซึ่งเมื่ออมรและเอมอรได้คิดขึ้นมาจากที่ได้ไปกราบพระประธานองค์นั้น และนึกย้อนไปถึงโครงการชุมชนสงเคราะห์ที่พวกเขาได้ทำ ก็เห็นว่าพวกเขากำลังช่วยกัน “ซ่อมแซม” สังคมไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องโพนทะนาหาชื่อเสียงหรือลาภยศอะไร

มีคำคมอยู่คำหนึ่งกล่าวว่า “ลาภยศตำแหน่งไม่ทนทาน ตำนานสิคงทน” การทำความดีให้คนจดจำก็เป็นเช่นนั้น