โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ขนาดความจุ 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551 สามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาฯ จำนวน 1,020 ไร่ ช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้ายของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง จำนวน 1,500 ไร่ ในพื้นที่ตำบลป่าเลา และตำบลสะเดียง รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำรองเพื่อการผลิตน้ำประปา สำหรับอุปโภคบริโภค พื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

ตำบลป่าเลาพื้นที่เป็นที่ราบสูงและภูเขาด้านทิศตะวันตกลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก บางส่วนเป็นภูเขาหินแกรนิตและมีต้นน้ำสายเล็กๆ บางส่วนเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ทําการเกษตรและอยู่อาศัย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และทำปศุสัตว์ในครัวเรือนเป็นอาชีพเสริม เช่น  เลี้ยงไก่ เป็ด สุกร โค และกระบือ “ได้ทำเกษตรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้สืบสานต่อรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาในการทำเกษตร ปีนี้ฝนตกต้องตามฤดูกาลทำให้อ่างเก็บน้ำมีน้ำเก็บกักเพื่อใช้ทางการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี” นายมานะ สุทนต์ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS เพชรบูรณ์ กล่าว

เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต และการตลาดร่วมกันทั้งจังหวัดในนามเกษตรอินทรีย์ PGS เพชรบูรณ์ มีสมาชิก จำนวน 30 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ ตั้งแต่การฝึกอบรมเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี ไปจนถึงการแก้ปัญหาเรื่องโรคพืช ส่วนกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่ง พด. ต่างๆ และมอบกากน้ำตาลให้ใช้ทำปุ๋ยหมัก ตลอดถึงการส่งเสริมด้านการตลาดโดยมีพัฒนาชุมชน พาณิชย์จังหวัด เข้ามาสนับสนุน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีตลาดรองรับมีรายได้อย่างต่อเนื่อง “กลุ่มมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 2,000 ไร่ สมาชิกแต่ละรายมีรายได้ประมาณ 500 ถึง 700 บาทต่อวัน ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มีรายได้เพราะไม่มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก แต่หลังจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จ ทำให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอทั้งปี สามารถเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้อย่างไม่ขัดสน มีรายได้ทั้งแบบรายวันและรายปี” นายมานะ สุทนต์ กล่าว

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการฯ การนี้ องคมนตรีได้กล่าวกับประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ว่าดีใจที่เห็นการเก็บกักน้ำของอ่างฯ  มีปริมาณน้ำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่า จะมีการเสริมระดับการเก็บกักน้ำของอ่างเพิ่มขึ้นด้วย การสร้างฝายพักน้ำไว้บริเวณฝายน้ำล้นเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำในช่วงน้ำมากได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณและความแรงของน้ำในช่วงน้ำหลาก ทำให้พื้นที่ทำกินของประชาชนได้รับความเสียหายแล้วค่อยระบายน้ำออกในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะทำให้การทำกินของประชาชนในพื้นที่นอกจากจะทำได้ตลอดทั้งปีแล้วยังสามารถขยายพื้นที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จให้ประโยชน์แก่ประชาชนมาร่วมกว่า 10 ปี ต่อจากนี้จะมีการต่อยอดเพิ่มพื้นที่ และจำนวนการได้รับประโยชน์ของประชาชนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะป่าบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำให้มีความสมบูรณ์เพราะบริเวณนั้นคือแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ” องคมนตรีกล่าว

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาฯ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ขนาดความจุ 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551 สามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาฯ จำนวน 1,020 ไร่ ช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้ายของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง จำนวน 1,500 ไร่ ในพื้นที่ตำบลป่าเลา และตำบลสะเดียง รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำรองเพื่อการผลิตน้ำประปา สำหรับอุปโภคบริโภค เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพและสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงกำหนดจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการเก็บกักอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำจาก 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 9.97 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง สามารถส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกพืช จำนวน 4,500 ไร่ และช่วยเพิ่มผลผลิตของพืช เนื่องจากมีน้ำเพียงพอและสม่ำเสมอ อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย