ยูเนสโกยก2เมือง ‘เชียงราย’ เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านออกแบบ ส่วน ‘สุพรรณบุรี’ เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ปี 2566 เป็น 2 รายการ จาก 55 รายการทั่วโลก ด้านก.วัฒนธรรมพร้อมผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้แก่ประเทศ

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศผลการรับรองเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 55 เมืองทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มีเมืองที่มีเอกลักษณ์และได้รับการรับรองจากยูเนสโก ยกจังหวัดเชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (City of Music) โดยทั้ง 55 เมืองสร้างสรรค์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองที่กำลังเป็นผู้นำในการเพิ่มการเข้าถึงวัฒนธรรม และกระตุ้นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ปรับประยุกต์ใช้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเมืองรวมทั้งมีแนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรมในการวางแผนพัฒนาเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้ง 55 เมืองสร้างสรรค์ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่นี้ จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (the UNESCO Creative Cities Network :UCCN) ประจำปี 2024 ระหว่างวันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2567 ที่เมืองบรากา ประเทศโปรตุเกส ภายใต้หัวข้อ “Bringing Youth to the table for the next decade”

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นนำวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ จึงพร้อมส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้วัฒนธรรมเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ เปิดกว้างความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ และความคิด ให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของผู้คนที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศต่อไป

“โดยคาดว่าเมืองเชียงรายและเมืองสุพรรณบุรีที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ในปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยที่จะสร้างรายได้ เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีมูลค่าการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” นายเสริมศักดิ์ รมว.วัฒนธรรม กล่าว

สำหรับที่ผ่านมาประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร(City of Gastronomy) ปี 2558, เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน(City of Crafts and Folk Art) ปี 2560, กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ(City of Design) ปี 2562, สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน(City of Crafts and Folk Art) ปี 2562, เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร(City of Gastronomy) ปี 2564 ทำให้เมืองดังกล่าวได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น ภาพกระทรวงวัฒนธรรม