บ้านห้วยยาง ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา มีทุ่งหญ้าและป่าละเมาะ ทางตะวันตกเป็นพื้นที่ราบไปจดป่าชายเลน มีลำคลองเล็ก ๆ มีต้นน้ำมาจากเทือกเขานอจู้จี้ไหลลงทะเลอันดามัน ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การปลูกพืชจำพวกยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ ข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น และสวนเกษตรผสมผสาน สภาพภูมิอากาศมีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน

เขานอจู้จี้ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม จังหวัดกระบี่ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูประชากรและพื้นที่ถิ่นอาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ประเมินสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง อดีตมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยการถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ทำให้พื้นที่ป่าลดลงส่งผลให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ป่าต้นน้ำบริเวณเขานอจู้จี้เก็บกักน้ำตามธรรมชาติได้น้อยจึงเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลอันดามันก็ตาม

นายแจ้ง ขนานใต้ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรักษ์อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียว โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยยาง ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ก่อนมีอ่างเก็บน้ำประชาชนต้องใช้น้ำในลำคลอง เมื่อน้ำในลำคลองแห้งพืชที่ปลูกก็ได้รับความเสียหาย หลังมีอ่างเก็บกักน้ำแล้ว ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอสามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้กิน ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว เนื่องจากรายได้จากยางพาราปีหนึ่งมีประมาณ 4 เดือน ปาล์มน้ำมันก็เป็นรายได้รายปี แต่ต้องรดน้ำเดือนละ 2 ครั้ง “พอได้อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ทุกคนดีใจมากไม่ต้องขุดบ่อหาน้ำอีกแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำจะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง มีการบริหารจัดการน้ำให้ได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีน้ำตลอดทั้งปี”

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2529 ตามที่ราษฎรตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ขอพระราชทานความช่วยเหลือ เนื่องจากประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในหน้าแล้ง

นายธงชัย ไชยนิคม หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่าปัจจุบันมีการนำน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำไปผลิตน้ำประปา โดยการประปาส่วนภูมิภาคสาขาคลองท่อมปีละประมาณ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกเหนือจากส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ “สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงการ โดยปรับปรุงดินในพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเพื่อทำแปลงเกษตรสาธิต และทดลองปลูกพืชเฉพาะถิ่น หรือ GI (Geographical Indications : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ข้าวหอมหัวบอน กาแฟเมืองกระบี่ รวมถึงพืชอาหารสัตว์ เช่น หม่อน และพัฒนาแปรรูปเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาศึกษาดูงานแล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป”

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ พบว่าปัจจุบันโครงการสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร เช่น สวนยาง ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ พืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ รวมประมาณ 650 ครัวเรือน รวมถึงหน่วยงานที่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาคลองท่อม อีกด้วย

ที่สำคัญ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็นกลไกทางธรรมชาติที่สำคัญในการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนแผ่นดินและอาณาบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะเขานอจู้จี้พื้นที่แหล่งต้นน้ำ นอกจากจะช่วยลดการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำกินแล้วยังจะทำให้สภาพแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น เอื้อต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อย่างนกแต้วแร้วท้องดำ สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย