“ที่โรงเรียนมี “ศูนย์การเรียนรู้เรื่องของพ่อ” ที่รวบรวมพระราชประวัติและงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมภายในโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดน้ำและพลังงาน ส่งเสริมและฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนเพื่อสร้างรายได้ภายใต้แนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ” เด็กหญิงสุนันทา อมรเลิศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก กล่าว

ด้าน นายพิทักษ์ ฉิมสุด ครูโรงเรียนบ้านสันป่าไร่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อของป่าอุทยานขุนพะวอ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำจึงมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2542 ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การจัดการขยะ การประหยัดพลังงาน

“ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง โรงเรียนจึงมีแนวคิดในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้โดยนำผ้าทอชนเผ่ากะเหรี่ยงซึ่งมีศิลปะลวดลายและรูปแบบการทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า พวงกุญแจ รวมไปถึงการนำกระดาษที่ใช้แล้วในโรงเรียนมารีไซเคิลเป็นวัสดุอุปกรณ์ใช้สอย เช่น แผ่นรูปภาพ ด้านการประหยัดพลังงาน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อพลังงาน โดยโรงเรียนได้สอนเทคนิคการเผาถ่านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะในพื้นที่มีกิ่งไม้จำนวนมาก จึงทำถ่านเพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนเศษถ่านที่เหลือก็เอามาบดให้ละเอียดและนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ตุ๊กตาดูดกลิ่นสำหรับรถยนต์หรือในตู้เย็น เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมดนี้ได้ถ่ายทอดให้แก่เด็กนักเรียนผ่านการฝึกปฏิบัติจริง ผลิตภัณฑ์ที่ได้นอกจากใช้เองในโรงเรียนและครัวเรือนแล้วยังมีมากพอจำหน่าย โดยโรงเรียนได้จัดตั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เด็กดอยอนุรักษ์โลกโรงเรียนบ้านสันป่าไร่” โดยรายได้จะมอบให้แก่เด็กนักเรียน” นายพิทักษ์ ฉิมสุด กล่าว

โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากการต่อยอดงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อให้ผืนป่าแม่ตื่นซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับผืนป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการแก้ไขฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรม ตลอดจนวางแนวทางให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการ ได้เดินทางไปยังโครงการ ณ สถานีโกวิท ปัญญาตรง 2 (บ้านละเผ่ใหม่) พร้อมมอบสิ่งของพระราชทาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ ถุงพระราชทานให้แก่ราษฎร และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ

จากการติดตามการดำเนินงานของ 4 สถานี ได้แก่ สถานีสหัส บุญญาวิวัฒน์ 1 (บ้านห้วยน้ำเย็น) สถานีสหัส บุญญาวิวัฒน์ 2 (บ้านทีนามู) สถานีโกวิท ปัญญาตรง 1 (บ้านแสมไทย) และสถานีโกวิท ปัญญาตรง 2 (บ้านละเผ่ใหม่) พบว่าได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์และมีความคืบหน้าตามเป้าหมายเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมกิจกรรมศูนย์เรียนรู้เพื่อการถ่ายทอดสู่การปฏิบัติใช้ของประชาชนในพื้นที่ เช่น บ่อเลี้ยงกบ โรงเรือนเพาะเห็ด และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ตำบลแม่ตื่น และตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการจำนวน 733,125 ไร่ แบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 5 หน่วยปฏิบัติ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น บ้านแสมกองคอง หมู่ 4 ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด สถานีสหัส บุญญาวิวัฒน์ 1 (บ้านห้วยน้ำเย็น) บ้านห้วยน้ำเย็น หมู่ 1 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด สถานีสหัส บุญญาวิวัฒน์ 2 (บ้านทีนามู) บ้านทีนามู หมู่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด สถานีโกวิท ปัญญาตรง 1 (บ้านแสมไทย) บ้านแสมไทย หมู่ 3 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด และสถานีโกวิท ปัญญาตรง 2 (บ้านละเผ่ใหม่) บ้านละเผ่ใหม่ หมู่ 1 ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด ประชากรในพื้นที่โครงการทั้ง 19 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 4,151 คน 1,265 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 85 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 15 ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ การปลูกข้าวไร่ การเลี้ยงสัตว์ หัตถกรรม และรับจ้างทั่วไป ปัจจุบันผลสำเร็จจากการขยายผลโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถรักษาสภาพป่าให้สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรตามแนวทางที่คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน