เมื่อวันที่ 24 พ.ย.66 ที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผบช.น.ร่วมกับนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผอ.สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ซึ่งมีวิทยาลัยตั้งอยู่ทั้ง 14 สน.ประกอบด้วย สน.มีนบุรี สน.ปทุมวัน สน.หัวหมาก สน.ดุสิต สน.สามเสน สน.พระโขนง สน.ทองหล่อ สน.บางนา สน.บางกอกใหญ่ สน.หลักสอง สน.หนองค้างพลู สน.บางบอน สน.ธรรมศาลา และ สน.แสมดำ นอกจากนี้ ทาง สน ฉลองกรุง ได้ส่งรองผู้กำกับการปราบปราม เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ทั้งยังร่วมประชุมถึงแนวทางการ แก้ไขปัญหาเด็กตีกันรวมถึงกระแสตั้งรับภาพยนตร์โฟร์คิงที่จะเข้าฉายภายในโรงภาพยนตร์เร็วๆนี้

โดย พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวก่อนการประชุมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหานักเรียนอาชีวะทะเลาะวิวาทตีกัน ทางตำรวจนครบาลจึงได้จัดการประชุมครั้งนี้เพื่อกำหนดแผนและแนวทางในการแก้ปัญหาโดยจะบูรณาการร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรอื่นๆอาทิชุมชนวัด ครอบครัว ในการร่วมแก้ปัญหา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะนำ“มีนบุรีโมเดล” หรือแผนการแก้ไขปัญหา ที่จัดทำขึ้นโดยวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีและ สน.มีนบุรี นำมาปรับใช้กับทุกสถานศึกษาอาชีวะในแต่ละท้องที่ เนื่องจากมีนบุรีโมเดลสามารถช่วยแก้ปัญหานักเรียนตีกันของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัย มีความประพฤติที่ดีและใส่ใจในการเรียนรู้มากกว่าที่จะก่ออาชญากรรมหรือกระทำผิดกฎหมาย 

ต่อมาภายหลังการประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง พล.ต.ต.ชรินทร์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เชิญผู้บริหารอาชีวะ ผู้บริหารเทคนิคมีนบุรี และตำรวจ 14 สน. มาพูดคุยปรึกษากัน เพื่อปฏิบัติตามแนวทางมีนบุรีโมเดล ที่ทำแล้วได้ผลดี ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงอยากนำโมเดลนี้ไปใช้ลดความขัดแย้ง สำหรับรูปแบบของมีนบุรีโมเดล เป็นเรื่องความจริงจัง ตั้งใจ ของผู้บริหารระดับกระทรวงของอาชีวะทุกภาคส่วน และความจริงจังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ปกครอง ในการช่วยกันทำให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงความขัดแย้ง และปัญหาทะเลาะวิวาทหมดไป

ส่วนเทคนิคมีนบุรีช่วงก่อนหน้านี้ก็มีการทำร้ายกันพอสมควร แต่พอใช้มีนบุรีโมเดล สถิติการขัดแย้งกันลดลง จึงคิดว่าเป็นโมเดลที่ได้ผล อยากให้ สน. อื่นๆ นำไปปฏิบัติตาม สิ่งที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งก่อนใช้โมเดลนี้ มีคดี 6 คดี แต่หลังใช้โมเดลนี้ คดีลดลงเหลือ 1-2 คดี ส่วนความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากครู อาจารย์ และภาคีเครือข่าย ร่วมมือกัน ความสำเร็จไม่ได้วัดที่ปริมาณคดีลดลงอย่างเดียว แต่มีการทำกิจกรรมให้นักเรียนมีเวทีแสดงความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

มีนบุรีโมเดลเริ่มมาราว 1 ปีแล้ว อุปสรรคก็มี แต่ปัญหาได้รับการแก้ไข หากมีเด็กเกเรมาชักนำ ผอ. จะคัดออก ส่วนปัญหาจะหมดใน 3 เดือนนี้หรือไม่ พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า ก็คาดหวังให้เบาบางลง ตั้งเป้า ให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน จากนั้น 3 เดือนจะมีการวัดผลอีกครั้ง ตอนนี้สถาบันที่นำมีนบุรีโมเดลไปใช้มีทั้งหมด 26 สถาบันทั่วกรุงเทพ

การรับมือหรือมาตรการเชิงรุก ทางตำรวจทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปค้นหากลุ่มเสี่ยง จับกุม  ด้านฝ่ายปราบปรามจะตั้งด่านตรวจค้นตามสถานที่สาธารณะควบคู่กัน 

ส่วนใหญ่เหตุทำร้ายกันที่ผู้ก่อเหตุมักเป็นเยาวชน จะปรับกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษหรือไม่ พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายต้องผลักดันในสภา ต้องพิจารณาหลายภาคส่วน ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน 

ส่วนผลระยะใกล้ที่จะมีการฉายภาพยนตร์ 4king  ภาค2 ทาง บช.น. ก็วางมาตรการป้องกันเหตุรอบปฐมทัศน์ วันที่ 30 พ.ย. และรอบต่อไป เพื่อป้องกันเหตุที่อาจมีลักษณะการเลียนแบบ ใช้ความรุนแรง อยู่ระหว่างดูว่ามาตรการเดิมได้ผลหรือไม่ 

ด้านนายทวีศักดิ์ ผอ.สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการคุยกับภาคีเครือข่ายจับมือร้วมกันแก้ปัญหา ความใกล้ชิดของ ครู ผู้ปกครอง ต้องเข้มข้นในการกวดขันนักเรียน และดูแลเป็นรายบุคคล 

สำหรับมีนบุรีโมเดลมีขั้นตอนการดูแลตั้งแต่ ประกาศรับสมัครนักศึกษา โดยมีระเบียบตามข้อ 8 ของกระทรวงรศึกษา มีการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ตรง คัดคนที่ตั้งใจเข้ามาเรียน ผ่านการมีการติดตามใกล้ชิด มีการไปเยี่ยมบ้าน ประชุมผู้ปกครองทุกภาคเรียน นอกจากนี้ ยังมีสมาคมศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง ทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ ช่วยให้ทุนการศึกษาน้อง