เมื่อวันที่ 26 พ.ย.66 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง และทนายความ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “เส้นขนานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ระบุว่า เมื่อคุณเป็นจำเลย เข้าสู่คดีอาญา เส้นทางแรกที่คุณต้องเจอคือ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ตำรวจเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รับเงินเดือนจากภาษีอากรของคุณ  เวลาตำรวจเขาจะขึ้นตำแหน่งสำคัญ ส่วนหนึ่งเขาต้องซื้อตำแหน่ง หรือให้ส.ส.วิ่งเต้นให้ ผ่านทางนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ซึ่งอาจมีคนสมหวัง และ ผิดหวัง

จากตำรวจ คุณจะเดินเข้าสู่กระบวนการของอัยการ ซึ่งเป็นข้าราชการเช่นเดียวกัน เขาก็รับเงินเดือนจากภาษีของคุณนั่นแหละ อำนาจของอัยการจะมากกว่าตำรวจ ฟ้องก็ได้ ไม่ฟ้องก็ได้ ให้ประกันก็ได้ คัดค้านการประกันก็ได้ จากนั้นคุณจะไปที่ศาล ซึ่งศาลก็เป็นข้าราชการ รับเงินเดือนจากภาษีอากรของคุณนั่นแหละ ตรงนี้คุณอาจถูกตัดสินยกฟ้อง จำคุก หรือเดินเข้าหลักประหาร  คุณอาจได้ประกัน หรือไม่ได้ประกันตัวก็ได้ นี่คือ เส้นทางด้านหนึ่งของคดีอาญา

เส้นทางอีกด้านหนึ่ง คือ การต่อสู้คดี คุณต้องเดินไปหาทนายความ ซึ่งเขาเป็นเอกชน เขารับค่าใช้จ่ายจากค่าว่าความที่คุณจะให้เขา มากหรือน้อยแล้วแต่ศักยภาพของคุณ เส้นขนานนี้ อำนาจ การต่อรอง ไม่เท่ากันหรอก ยิ่งหากทนายความมีศักยภาพน้อย และคุณยากจนไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอให้เขาทำคดีอย่างสะดวก คล่องตัว โอกาสที่คุณจะเดินเข้าคุกหรือเข้าหลักประหาร ก็มีมากกว่าโอกาสที่คุณจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัว

มีข้อยกเว้น ว่า ถ้าตำรวจ อัยการ มุ่งจะพิสูจน์ความผิด-ถูก ของคุณอย่างเห็นแก่ความยุติธรรมจริงๆ นั่นและ คุณอาจได้รับความยุติธรรม แต่… มันยากมากมิใช่หรือ แน่นอน ตัวคุณเองนั่นแหละรู้ดีที่สุดว่าคุณทำผิดหรือไม่ แต่หากทุกกระบวนการมันโปร่งใส เป็นธรรม วันที่คุณเดินเข้าคุกหรือเดินเข้าหลักประหาร คุณก็ยอมยอมรับได้มิใช่หรือว่าเมื่อคุณทำผิดคุณก็ต้องโดนแบบนี้