ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะกระชับการสร้างกลุ่มปิดล้อมจีน ด้วยการแสวงหาความช่วยเหลือจากอินเดีย ซึ่งนอกจากการพยายามตอกลิ่มความขัดแย้งกันระหว่างปักกิ่ง และนิวเดลี เช่น การที่ทั้งปักกิ่งและนิวเดลี ต่างก็เข้ามาดำเนินการแทรกแซงสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา ระหว่างรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศและได้รับการสนับสนุนจากจีน ในขณะที่อินเดียก็เข้ามาสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธที่ปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลทหารของมิน อ่องหล่าย

หรือการที่สหรัฐฯหนุนให้อินเดียถอนตัวออกจากกลุ่ม BRICS อย่างเป็นขั้นตอน โดยในขั้นแรกไม่ยอมลงขันเข้าร่วมในธนาคาร BRICS

สหรัฐฯยังนำเสนอผลประโยชน์ที่คาดว่าอินเดียมีความต้องการ โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รมต.ต่างประเทศและนายลอยด์ ออสติน รมต.กลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมที่เรียกว่า การพูดคุย 2+2 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ในขณะที่ทางอินเดียได้ส่งรัฐมนตรีกลาโหม เข้าเป็นคู่เจรจาคือนาย Subramanyam Jaichankar และนาย Rainath Singh ซึ่งเป็นระดับรัฐมนตรี มาพูดคุย

การพบปะในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา 2 ฝ่าย เมื่อปี ค.ศ.2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างวอชิงตันและนิวเดลี ให้กระชับให้มากขึ้นในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ

ครั้งนี้การเจรจา 2+2 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองนำ โดยใช้ความร่วมมือทางการทหาร อันเป็นโครงการที่ทั้งอินเดียและสหรัฐฯต่างก็จะได้ประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน แต่จุดมุ่งหมายทางการเมือง คือเน้นการพุ่งเป้าไปที่จีน ทว่าในทางปฏิบัติ คือ ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมทหาร

ในขั้นต้นสหรัฐฯตกลงที่จะเข้ามาดำเนินโครงการผลิตเครื่องยนต์เจ็ต สำหรับเครื่องบินรบของอินเดีย ในขณะที่อินเดียก็กำลังพิจารณาจะซื้อโดรนโจมตีจากสหรัฐฯ

ทว่าหลังการประชุม 2+2 รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกลับออกมาแถลงเป็นว่าเป็นการปรึกษาหารือว่า “มันเป็นเพียงการส่งเสริมการกำหนดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และการพัฒนาความร่วมมือทางการป้องกันประเทศ”

นอกจากแผนการที่จะบ่อนทำลาย BRICS อันเป็นกลุ่มที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการเงินที่สหรัฐฯกุมอำนาจอยู่โดยอาศัยเครื่องมือที่ตนได้จัดตั้งขึ้นภายหลังชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ ข้อตกลง BRETON WOOD ด้วยการจัดตั้งธนาคารโลก (World Bank) การจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลไกที่เกี่ยวพันอื่นๆรวมทั้งองค์การการค้าโลก (WTO) อันเป็นเหตุทำให้สหรัฐฯกลายเป็นผู้นำเดียว ในการบัญชาการควบคุมระเบียบโลกใหม่ (NEW WORLD ORDER) แม้ผลกระทบยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แต่การป้องกันอำนาจของสหรัฐฯด้วยการทำลายก่อนเกิดเหตุก็เป็นความระมัดระวังที่รอบคอบในการรักษาอำนาจของตนเองและอินเดีย ก็เป็นหมากตัวสำคัญที่สหรัฐฯจะใช้ในการทำลาย BRICS และใช้อินเดียเป็นตัวแทนในการปะทะกับจีน ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรือการเปรียบมวยถูกคู่โดยสหรัฐฯเป็นโปรโมเตอร์

ดังนั้นด้วยหมากที่สหรัฐฯก้าวเดิน จีนก็คงไม่อยู่นิ่งเฉย อย่างน้อยจีนจะต้องกระชับความสัมพันธ์กับปากีสถาน ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยอาจจะรอรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกไม่นานนี้

อนึ่งนอกจากหมากที่อินเดีย ร่วมมือกันกับสหรัฐฯแล้วอินเดียยังคงดำเนินการอีกหลายประการในการแยกความสัมพันธ์กับจีน อย่างเช่น การแยกตัวออกจากระบบ SUPPLY CHAIN สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญในด้านเภสัชกรรม หรือจะเรียกว่า ACTIVE PHARMACEUTICAL INGREDIENTS (APIs)

สารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญทางชีวภาพของยานั้นจะขาดหายไปหากอินเดียตัดการซื้อ-ขายจากจีน และจากอุตสาหกรรมยาของอินเดีย ซึ่งจะมีผลทำให้ราคายาของอินเดียและโลกแพงขึ้น ซึ่งทำให้ยิ่งเกิดความตึงเครียดระหว่างขั้วและค่าย ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน ฮามาส-อิสราเอลหรือคาบสมุทรเกาหลี ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นในโลก ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้เพราะอินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้ายาและส่วนประกอบสำคัญของยาจากจีนอย่างหนัก โดยรายงานของรัฐบาลอินเดียกว่าครึ่งของ APIs ของปริมาณทั้งหมดที่อินเดียใช้และนำเข้า มีราคาถูกกว่าการผลิตเองในประเทศ

อย่างไรก็ตามการผลิตวัตถุดิบเพื่อการทำยาของจีนนั้น ยังมีความยืดหยุ่นอย่างมาก แม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนักจากอินเดีย ที่จะแยกตัวออกจากการพึ่งพานี้ ตลอดจนการกระตุ้นจากสหรัฐฯเพื่อให้ตัด SUPPLY CHAIN ด้านยาจากจีน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯแพงกว่าหลายเท่าตัว

อนึ่งส่วนประกอบของยาที่สำคัญเหล่านี้ภายใต้การผลิตของจีน นอกจากราคาถูกแล้ว ยังมีมาตรฐาน และสามารถควบคุมต้นทุนได้ การรักษาคุณภาพและกำลังการผลิต จึงยังคงสามารถรักษาลูกค้าในภูมิภาคต่างๆของโลกไว้ได้ ดังจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรมนี้ของจีน เติบโตขึ้นจาก 64% เป็น 71% ในรูปมูลค่าและเพิ่มจาก 62% เป็น 75% ในรูปปริมาณ จากปีค.ศ. 2014 ถึงปีค.ศ.2023

เรื่องนี้จึงต้องดูกันต่อไปว่าอินเดียโดยการชักจูงของสหรัฐฯ ที่และจะพยายามปิดล้อมจีนในทุกด้าน จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับตนเอง และยังก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้น

ทั้งนี้ในมุมมองจากภายนอกอินเดียกลายเป็นประเทศที่ไม่อาจจะพึ่งพาได้ในฐานะพันธมิตร เพราะอินเดียจะแสวงหาแต่ประโยชน์ที่ตนพึงได้ โดยจะมีนโยบายที่โอนเอนไปมา

รัสเซียเอง ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ของอินเดียก็ได้ตระหนักถึงการโอนเอนในด้านนโยบายของอินเดีย จนแทบจะเชื่อถือไม่ได้

ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงมีโครงการที่จะสร้างฐานทัพเรือที่รัฐยะไข่ของเมียนมา อันจะทำให้รัสเซียสามารถที่จะสร้างพลังในการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯในมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนจะทำให้รัสเซียสามารถสร้างอิทธิพลในอ่าวเบงกอลได้อีกด้วย

กล่าวโดยสรุปแทนที่อินเดียจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในมหาสมุทรอินเดีย นิวเดลีกลับกลายเป็นของเล่นที่สหรัฐฯจะใช้ให้เป็นนอมินี เพื่อเอาไว้ต่อต้านจีนโดยเอาผลประโยชน์มาล่อ

นี่ถ้าอินเดียไม่ใช่ประเทศใหญ่ที่มีประชากรถึง 1,300 ล้านและกำลังจะแซงหน้าจีนด้วยจำนวนประชากร แต่การกระจายรายได้ขั้นย่ำแย่นี้ ก็คงไม่มีใครอยากคบเป็นแน่

อนึ่งอินเดียยังกลายเป็นประเทศที่เรียกว่า APARTHEID คือ เหยียดหยามวรรณะและศาสนาอย่างเข้มข้น จนเลยขีดที่จะเรียกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว และเข้ากันได้ดีกับอิสราเอล