ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำประสบการณ์จากการทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาค ทรงนำแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย พระราชทานลายผ้าพระราชทาน พระราชทานแนวคิดเรื่อง Sustainable Fashion ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่นและแนวทางการออกแบบที่นำสมัยให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละภาคนั้นๆ นำไปสู่โครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”  ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยสู่ความยั่งยืน เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลสำเร็จของโครงการฯ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กำหนดจัดงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Silk Success Sustainability ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี

โอกาสนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้าช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นพระราชทานเหรียญรางวัลแก่คณะทำงานที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”, ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดที่เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ พระราชทานโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตนแก่ Young OTOP พระราชทานโล่รางวัล TOP 5 ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium  สู่สากล  ประเภทผ้า เครื่องแต่งกายและของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก พระราชทานเหรียญรางวัลพร้อม โล่รางวัล แก่นักออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทอดพระเนตรนิทรรศการ Silk Festival 2023 Silk Success Sustainability ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นิทรรศการจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ได้แก่ ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล บาติกโมเดล Young OTOP จักสาน Premium OTOP ตลอดจนนิทรรศการเปิดตัวหนังสือ 4 เล่ม ได้แก่ หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดล สู่ตลาดสากล, หนังสือลายดอกรักราชกัญญา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมด้วยคณะดีไซเนอร์.

 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  เสด็จพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน ระดับประเทศ

จากนั้นทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP Luxury โซน OTOP ชวนชิมจากทั่วทุกภูมิภาค โซนร้านค้าของศิลปินโอทอปที่มีชื่อเสียง และทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทย จาก 15 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ แบ่งเป็น 13 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI, ARCHIVE026, ASAVA, JANESUDA, IRADA, ISSUE, LANDMEE,  MILIN, PYVET, TandT, THEATRE, TIRAPAN,  WISHARAWISH และ 2 Young Designers ได้แก่ แบรนด์ HAYA ผู้ชนะเลิศ และ AMEEN Studio รองชนะเลิศการประกวดตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก โครงการดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยนำผ้าไทยซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่  ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ฯลฯ มารังสรรค์ผลงานสุดประณีต สะท้อนแนวคิดผ้าไทยใส่ให้สนุก แสดงถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย โดยมี กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย, แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย กุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ร่วมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการการประกวดฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรมและผู้เข้าประกวด ร่วมรับเสด็จฯ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ, ดร.วันดี - วรชา กุญชรยาคง จุลเจริญ

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมนำแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้สำเร็จในทุกพื้นที่ พระองค์พระราชทานลายผ้า อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตน ราชกัญญา รวมถึงลายผ้าพระราชทานอื่นๆ และล่าสุด “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้พี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้า เครื่องแต่งกายและงานหัตถกรรม นำไปผลิตชิ้นงานเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดควบคู่กับการโค้ชชิ่งให้ความรู้ การทอผ้า งานย้อมสีผ้า และผลิตภัณฑ์ลายใหม่ มีสีสันสดใส การตัดเย็บที่ทันสมัย ทำให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน นับเป็นความสำเร็จที่พวกเราได้พยายามกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี

เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน

ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ พระองค์ได้พระราชทานแนวพระดำริในการพัฒนาผ้าไทยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทรงออกแบบพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ พระผู้ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทาง แห่งการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย และยังหมายถึง Sustainable คือ แนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร ทรงออกแบบ ให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึง แนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และ ปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในการนี้ทรงพระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน โดยมีแนวทางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขยายผลไปสู่การคิดคาร์บอนเครดิต ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะสามารถรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นแนวทางของ Sustainable Fashion มีเครื่องนุ่งห่มที่ย้อมสีธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมี

 อมาลีนา ซักเซ็ก, ซาบีดา-ชาดา-มนัญญา ไทยเศรษฐ์, ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ, กีต้า ซับบระวาล, สุพัตรา จิราธิวัฒน์, วรชา กุญชรยาคง จุลเจริญ, ปานัดฌา- อัลฑริกา ไทยเศรษฐ์

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประชาสัมพันธ์การแต่งกาย ผ้าไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นให้ประชาชนสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส นับเป็นความโชคดีของพวกเราพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เป็นความชำนาญพิเศษของพระองค์ในเรื่องของการออกแบบ แพคเกจจิ้ง การทำแบรนด์ดิ้ง มาช่วยยกระดับคุณค่า มูลค่าของผ้า เช่น “ดอนกอยโมเดล” ที่ชุบชีวิตชาวดอนกอย  อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จากรายได้เพียง 700 บาท/คน/เดือน เป็น 20,000 บาท/คน/เดือน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระองค์ท่านพระราชทานพระดำริต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคทั่วประเทศ และทรงเน้นย้ำถึงการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพระราชทานพระดำริ“หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ส่งเสริมการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกไม้ที่สามารถนำมาย้อมผ้าสีธรรมชาติได้ กลางน้ำ คือ การออกแบบลวดลายใหม่ และปลายน้ำ คือ พัฒนาการออกแบบตัดเย็บและการจำหน่าย สร้างอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบกับในขณะนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ทำการรับรองกระบวนการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์  ของผ้าไทยอีกด้วย

ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดการประกวดลายผ้าพระราชทานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวดมากถึง 6,290 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 796 ชิ้น ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว โดยผลการตัดสินผลงานได้รับรางวัล จำแนกเป็น ประเภทผ้า 14 ชนิด รวม 65 ผืน ได้แก่ 1.ผ้ายกเล็ก 2.ผ้ายกใหญ่ 3.ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 4.ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ 5.ผ้าเทคนิคเกาะ/ล้วง เหรียญทอง 6.ผ้าหมี่ข้อ/หมี่คั่น 7.ผ้าแพรวา 8.ผ้าชาติพันธุ์ 9.ผ้าบาติก/มัดย้อม/เขียนเทียน 10.ผ้าบาติกพระนามาภิไธย 11.ผ้าขิด 12.ผ้าจก/ผ้าตีนจก 13.ผ้าเทคนิคผสมพื้นเมือง  14.ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ ประเภทหัตถกรรม 7 ชิ้นงาน และรางวัลพิเศษ Best of the best ประเภทหัตถกรรม 1 ชิ้นงาน   

พลตรี ชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์ สถาบันสิริกิติ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ประเภทหัตถกรรม กระบุงจักสานย่านลิเภาทรงฟักทอง เลี่ยมขอบทองแดงชุบนาก ได้รับรางวัลพิเศษ Best of the best เปิดเผยว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคการทำ จักสาน การขึ้นรูป และการเลี่ยมขอบ เป็นการพัฒนารูปทรงของงานจักสานย่านลิเภาให้เป็นรูปทรง ของผลไม้ และใช้ลายตัวอักษร S เรียงเป็นสร้อยล้อมลายดอกรักสี่ทิศ สำหรับโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’และงานหัตถกรรม ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่าง ผู้ประกอบการ ช่างทอ ช่างหัตถกรรม เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตได้

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ชั้นสูง และอาหารจากร้านดังทั่วประเทศได้ในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี สอบถามเพิ่มเติมโทร. 081-877-6969

#กระทรวงมหาดไทย

#กรมการพัฒนาชุมชน

#ผ้าไทยใส่ให้สนุก

#Silkfestival2023

#SilkSuccessSustainability