ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : นัยว่าครั้งแรกของไทยที่มีการศึกษาสำรวจรสนิยมความชอบเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยจากชาวต่างชาติใน 12 ประเทศ 7 ภูมิภาคทั่วโลก นำมาจัดทำแผนขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยเกี่ยวกับการศึกษาศักยภาพของไทยในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในระดับโลก โดยร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจรสนิยม ความชอบ ทัศนคติ พฤติกรรมที่มีต่อศิลปวัฒนธรรม สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของไทยในต่างประเทศที่มีศักยภาพจำนวน 12 ประเทศ ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา บราซิล แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการศึกษาในเรื่องนี้ โดยจะนำผลการศึกษามาจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ผลการศึกษารสนิยมความชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยของผู้คนทั่วโลก พบว่าที่ชื่นชอบที่สุดคือ อาหารไทย และวัฒนธรรมการกิน รองลงมาเอกลักษณ์ความเป็นไทย อาทิ ประวัติศาสตร์ ทัศนียภาพ ประเพณี การไหว้ รอยยิ้ม ภาษาไทย รวมทั้งศิลปะ หัตถกรรม และสถาปัตยกรรม เช่น วัด พระพุทธรูป รวมถึงการแสดง การละเล่น งานฝีมือไทย และศิลปะไทย ด้านความประทับใจที่มีต่อประเทศไทย อันดับหนึ่งความเป็นมิตรของคนไทย รองลงมาความห่วงใย จริงใจ ต้อนรับขับสู้ ความงามของประเทศไทยที่น่าหลงใหลและดึงดูด มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร น่าสนใจและคาดไม่ถึง ส่วนประเทศที่มีมุมมองที่ดีต่อประเทศไทยต้องการเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมไทย รวมถึงใช้ชีวิตหรือท่องเที่ยวประเทศไทยในระยะยาวมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ แอฟริกาใต้ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย

ประเทศที่มีความชื่นชอบศิลปะและวัฒนธรรมไทยมากที่สุด ได้แก่ แอฟริกาใต้ ซาอุฯ จีน และมาเลเซีย ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจนั้นรับรู้ผ่านสื่อคอนเทนต์ต่างๆ ของไทย เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการทีวี ส่วนเหตุผลที่ชื่นชอบ เนื่องจากศิลปะ วัฒนธรรม และวรรณกรรมไทย มีที่มา ประวัติศาสตร์ เนื้อหาน่าสนใจ ผลงานมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และสร้างสรรค์แปลกใหม่ ในด้านความนิยมบริโภคคอนเทนต์ไทยของผู้คนทั่วโลกพบว่า ซาอุฯ จีน และแอฟริกาใต้นิยมมากที่สุด ซึ่งจุดเริ่มต้นรู้จักจากสื่อออนไลน์ ส่วนเหตุผลที่ชอบ เนื้อหาน่าติดตาม สร้างสรรค์ แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ตัวละครโดดเด่นและมีเอกลักษณ์

ด้านผลการศึกษาความนิยมอาหารไทยของผู้คนทั่วโลกพบว่า มาเลเซีย ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ จีนและอินเดีย ชื่นชอบอาหารไทยมากที่สุด ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจ มีโอกาสได้รับประทานระหว่างมาท่องเที่ยวในไทย ครอบครัว เพื่อน คนรู้จักแนะนำ ส่วนเหตุผลที่ชื่นชอบเพราะอร่อย เมนูหลากหลาย รสชาติแปลกใหม่ เป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่าสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สินค้าหัตถกรรม คอนเทนต์ ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ จีน อาเซียน ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อินเดีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง

ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า  วธ.จะนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำแผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย รองรับนโยบายสร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก ภายใต้แนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา และการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) ในการสร้างรายได้แก่ประชาชน ชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

เครดิตภาพ กระทรวงวัฒนธรรม