เวียนมาบรรจบ ครบวาระอีกปีหนึ่งแล้ว

สำหรับ “วันดินโลก (World Soil Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

โดยทาง “องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” หรือ “เอฟเอโอ” องค์กรซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งใน “ทบวงการชำนัญพิเศษ” แห่ง “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” สถาปนาขึ้น โดยถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย เป็นวันที่มีความสำคัญทางสากลวันหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ ก็ด้วยบรรดานักปฐพีวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์ทางดิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวนเรือนหมื่น ล้วนมีฉันทานุมัติเลือกเอาวันมหามงคลของปวงชนชาวไทยข้างต้น คือ 5 ธันวาฯ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย ให้เป็น “วันดินโลก” ในการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ในปี 2545 (ค.ศ. 2002) เพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ ที่ทรงงาน และมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน ตลอดจนการจัดตั้งโครงการพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาดินและที่ดินเป็นประการต่างๆ จากจำนวนบรรดาโครงการทั้งหลายที่เกี่ยวกับด้านการเกษตร เพาะปลูก การปศุสัตว์ การประมง รวมถึงการชลประทาน ทั้งหมดทั้งสิ้น 4,741 โครงการ อันส่งผลก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงชีพของประชาชนเป็นประการต่างๆ

คุณูปการจากโครงการพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ หาใช่แต่จะก่อประโยชน์สุขเฉพาะปวงชนชาวไทยเท่านั้น ทว่า บารมีจากโครงการฯ ของพระองค์ ยังแผ่ไพศาลไปยังประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่นำแนวทางในโครงการของพระองค์ ไปดำเนินเป็นแบบอย่าง ผ่านหน่วยงานของไทยเราที่ทำงานร่วมองค์การระหว่างประเทศ

ยกตัวอย่างจากกรณีของ “กองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทย-ดาร์ฟูร์” นำแนวทางของโครงการพระราชดำริของพระองค์ ไปพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศซูดาน ทวีปแอฟริกา นอกเหนือจากการเข้าไปรักษาสันติภาพ ความมั่นคง ในประเทศดังกล่าว ร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพชาติอื่นๆ แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เป็นต้น

โดยโครงการในพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย ที่เกี่ยวกับการพัฒนาดินและที่ดิน ก็มีมากมาย อาทิ

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา

โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี

โครงการแกล้งดิน เพื่อใช้แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว จากการที่ดินมีสภาพเป็นกรด ด้วยการใช้ปูนขาว จนกระทั่งส่งผลให้ดินกลายสภาพมีความเหมาะสมสำหรับการเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ ได้ต่อไป

โครงการหญ้าแฝก เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม โดยใช้หญ้าแฝกมาช่วยแก้ไขดินที่มีสภาพความแข็งดานของดิน ด้วยรากของหญ้าแฝกที่ไชชอนออกไป การใช้หญ้าแฝกควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำในพื้นดิน เป็นต้น

โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จ.นครนายก

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน

ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเยี่ยงนี้ ทำให้ทาง “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ” เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013)

พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ ก็ได้ขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น “วันดินโลก”

โดยแต่ละปีของ “วันดินโลก” ก็จะมีจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อให้โลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของดิน ด้วยการรณรงค์เป็นประการต่างๆ ในแต่ละปี

สำหรับ “วันดินโลก” ปี 2565 (ค.ศ. 2022) นี้ ทาง “องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” หรือ “เอฟเอโอ” ก็จะรณรงค์ภายใต้หัวข้อที่ว่า “Soil and Water : a source of Life ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต” เป็นหัวข้อธีมหลักในการรณรงค์ว่าด้วยวันดินโลกประจำปีนี้

นอกจากนี้ ยังเป็นน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และการก่อให้เกิดประโยชน์สุข ต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร และปวงชนชาวไทย ตลอดรัชสมัยของพระองค์ สืบเนื่องมาถึง ณ ปัจจุบัน