มาดูขั้นตอนก่อนที่ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ยูเนสโก  

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมสงเสริมวัฒนธรรม (ข้อมูล สงกรานต์ ขึ้น ICH Unesco 7.12.66) ได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรายการ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ต่อยูเนสโกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 โดยผ่านขั้นตอนในประเทศ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนร่วมกับชุมชนผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน  และได้รับความยินยอมจากชุมชนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้เสนอขอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก ซึ่งเป็นการเสนอขอขึ้นทะเบียนรายการโดยประเทศเดียว (national nomination)

ในการนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of  the Intangible Cultural Heritage : ICS-ICH) ครั้งที่ 18 (ICS-ICH 18) ระหว่างวันที่ 4 – 9 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาซาเน (Kasane) สาธารณรัฐบอตสวานา โดยการประชุมครั้งนี้ มีวาระการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนรายการ "สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditonal Thai New Year Festival)" เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) กำหนดวันการพิจารณาตัดสินระหว่างวันที่ 5-6 ธันวาคม 2566

ทั้งนี้ จากการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยของคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body) ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ให้พิจารณาขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารเป็นที่น่าพอใจตามเกณฑ์การพิจารณา โดยคณะผู้ประเมินยังแนะนำว่าเอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับภัยคุกคามต่าง ๆ เผชิญอยู่ และแสดงให้เห็นว่ารัฐภาคีวางแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดทำบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ดี พร้อมมีแนวทางการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่ชัดเจน

พันธผูกพันธ์หลังจากการขึ้นทะเบียนยูเนสโก เมื่อมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการทะเบียนแล้ว รัฐภาคีจะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ต้องเสนอรายงานสถานะของรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทุก 6 ปี โดยนำเสนอใน 7 ประเด็น ดังนี้

(1) ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมและวัมนธรรมของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บทบาทของผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 (2) สถานการณ์ดำรงอยู่และความเสี่ยงในปัจจุบันของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 (3) ความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกวัมนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ หลังจากที่ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

(4) มาตรการที่ดำเนินการที่ส่งเสริมและสนับสนุนอันเนื้องมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

(5) การมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

(6) หน่วยงาน และองค์กรชุมชนที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และส่งเสิรมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

(7) การเปิดโอกาสให้ชุมชน กลุ่มต่าง ๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในกระบวนการจัดทำรายงาน

เครดิตภาพ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

 

#สงกรานต์ #ยูเนสโก #ปีใหม่ไทย #มรดกวัฒนธรรม