เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ได้ลงนามประกาศ “แนวทางการมอบหมายการบ้าน” ตามนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) โดยเป็นการประกาศหลักการและแนวปฏิบัติในการมอบหมายการบ้าน “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้ หลักการ “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาในชั้นเรียนให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ให้มีการบูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น

“การประกาศแนวทางการมอบหมายการบ้าน “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” ของ สพฐ. เพื่อให้คุณครู รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจร่วมกันว่า หัวใจของการให้การบ้าน คือ การให้เด็กๆ ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้ได้ฝึกฝนทำซ้ำจนเกิดทักษะ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนไม่เท่ากัน หรือสำหรับเด็กโต การบ้านที่ให้ได้ค้นคว้าอย่างอิสระ จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง จึงขอเน้นย้ำกับคุณครูว่า การให้โจทย์ที่ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ใช้เวลามากเกินไป แล้วมีการตรวจการบ้าน อธิบาย ให้ feedback จุดที่ควรพัฒนาอย่างตรงประเด็น จึงจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขที่เกิดจากการลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพของการบ้าน เช่น ทำการบ้านหนึ่งชิ้นงานส่งคุณครูเพื่อวัดผลการเรียนรู้ได้หลายวิชา จะสร้างความสุขให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูเองด้วย ซึ่งเชื่อได้ว่าจะทำให้เด็กไทย “เรียนดี มีความสุข” ตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว