นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกล่าวถึงรัฐบาลเตรียมสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงว่า มันมาอีกแล้ว ใช่... มันมาอีกแล้ว

ถ้าตั้งแต่ 50 ปีก่อน ทุกๆ รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะให้คนไทยเรียนหนัก ทำงานหนักเท่ากับความพยายามที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เราน่าจะเป็นอีกชาติหนึ่งไปที่ดวงจันทร์แล้ว

ผมกำลังพูดถึงความพยายาม (อีกครั้ง) ที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

สมัยก่อนชาวบ้านเรียกรัฐมนตรีที่ชอบคิดหาโครงการใหม่ๆ มาทำว่า 'จอมโปรเจ็คท์' ซึ่งชาวบ้านก็รู้ว่าทำไปทำไม บางรัฐบาลมีโปรเจ็คท์เยอะมาก

สมัยผมเป็นวัยรุ่น มีคำกล่าวว่า แฟนคู่ไหนปีนเขาภูกระดึงด้วยกันแล้ว ถ้าไม่รักกันกว่าเดิม ก็เลิกกัน

ก็ไม่แปลก เพราะการไต่เขาสูงราวหนึ่งกิโลเมตร ไม่ได้วัดเฉพาะกำลังใจ แต่วัดปริมาณความห่วงใยด้วย

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 กินพื้นที่สองแสนกว่าไร่ สูงจากพื้นโลกราวหนึ่งกิโลเมตร

ไต่ขึ้นแต่ละทีเหนื่อยแสนเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย สร้างกระเช้าไฟฟ้าแบบรวดเดียวถึง ไม่ต้องเหนื่อย และยังสามารถถ่ายรูปไปอวดเพื่อนๆ ได้

เราติดความสบายจนเคยตัว ไม่ชอบเหนื่อย

ความคิดนี้ก็ไม่ต่างจากขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่ยอดเขาสักแห่ง แล้วถ่ายรูป บอกทุกคนว่า มาอยู่ที่ยอดเขาแล้ว

ทั้งนี้เพราะเราสนใจที่จุดหมายปลายทางมากกว่าการเดินทาง

เราลืมไปว่าเสน่ห์ของการเดินทางคือการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมาย

นี่ก็คือเหตุผลที่มีคนขี่จักรยานจากกรุงเทพฯไปอุบล จากเชียงใหม่ไปยะลา ทั้งที่นั่งเครื่องบินก็ได้

Journey is more important than the destination.

ประโยคนี้สามารถใช้เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตได้ ตรงกับที่ทางพุทธบอกว่า "อยู่กับปัจจุบัน"

ผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเรามองทุกอย่างเป็นโปรเจ็คท์ เป็นเงิน เป็นรายได้ มองภูกระดึงเหมือนกับที่อื่นๆ คือ ทำอย่างไรจึงจะขุดเงินจากนักท่องเที่ยวให้มากที่สุด

เงิน เงิน เงิน เงิน เงิน เงิน

อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ชี้เสมอว่า ไม่ว่าจะออกแบบกระเช้าหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในป่าเขา ยากจะหนีพ้นสภาวะทัศนะอุจาด นี่คือเรื่องความงาม

คนยิ่งเยอะ ธรรมชาติก็ยิ่งบรรลัย นี่คือเรื่องการทำลายธรรมชาติ

ทุกครั้งที่มีโปรเจ็คท์แบบนี้ เราได้ยินคำมั่นสัญญาเสมอว่า เราจะไม่ทำลายธรรมชาติ เรามี 'มาตรการ' แต่ track record ของเราบอกเรื่องตรงข้าม

เราทำลายธรรมชาติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

การท่องเที่ยวเป็นคมมีดสองด้าน ด้านหนึ่งคือรายได้ อีกด้านหนึ่งคือสิ่งที่เมื่อหายไปแล้ว ไม่หวนกลับมา

ในความเห็นส่วนตัวของผม เราไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวมากมายก่ายกองก็ได้ บางพื้นที่ปล่อยให้มันอยู่ของมันไปเถอะ ให้ป่าอยู่ของมันไป อย่าไปรบกวน

ภูกระดึงเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชสำคัญมากมาย ปล่อยให้มันอยู่ของมันเถอะ ไปยิ่งยากยิ่งดี

ภูเขาไม่เคยขอร้องให้เราไปหา ป่าไม้ เกาะแก่งก็ไม่เคยชวนเราไป ดังนั้นเมื่อเราไปเยือน ก็สมควรใช้หลักเต๋าคือ เดินเข้าป่า ไม่ขยับเขยื้อนใบหญ้าสักใบ เดินทวนน้ำ ไม่เกิดริ้วคลื่น

ถ้าการเดินทางเข้าหาธรรมชาติไม่สามารถยกระดับจิตใจเรา มันก็ไม่ใช่การเดินทาง มันเป็นแค่การเชื่อมจุด ก. กับจุด ข. ที่ไร้หัวใจ

วินทร์ เลียววาริณ