แม้ค่ำยังคึก!ปชช.แห่ฟังวงเสวนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร ‘ชูศักดิ์’ ชี้ หากแก้รธน.ไม่สำเร็จก็ย่ำอยู่กับที่-ควรสกัดมาตรา 256 ออกไป แนะ ควรเขียนให้ชัดทำรัฐประหารไม่มีนิรโทษกรรม-รัฐประหารต้องหมดไป

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 ”ร่วมก้าวย่างบนประชาธิปไตย สู่เส้นชัยรัฐธรรมนูญ“ ช่วงหนึ่งมีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.), นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.), นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ก.ก., นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่มไอลอว์ โดยมีนายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราตั้งเป้าไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างเพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประชาชน หากเป็นเช่นนี้แล้วมีส.ส.ร.คิดว่าเราจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับส.ส.ร.ว่าจะยกร่างอย่างไร แต่เชื่อว่าหากกระบวนการมีส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ขณะนี้หลายฝ่ายพยายามอยู่ หากไม่สำเร็จ ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้นั้น ตนคิดว่าจะย่ำอยู่กับที่และใช้ร่างฉบับนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 256 ที่ปัจจุบันเราติดกับอยู่กับมาตรานี้ เพราะเวลาจะแก้ไขมาตรานี้เราติดอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุว่าต้องมีเสียงของสว. สนับสนุน 1 ใน 3 ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่าเรายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหลายประเด็น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้งด้วยเหตุผลว่าเสียงของสว. ไม่ถึง 1 ใน 3 ตนคิดว่าเราต้องสกัดมาตรา 256 ออกไปเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นพลวัตและสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ ฉะนั้น ที่มาขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคือปัญหาของประเทศว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระ ศาลได้ หากวินิจฉัยอะไรออกมา คนนั้น คนนี้ก็พ้นจากตำแหน่ง เพราะเราไปมอบอำนาจให้เขาจนไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกันได้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับองค์กรในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายคนว่าต่อไปนี้องค์กรอิสระควรจะมีที่มาจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรามีรัฐธรรมนูญผ่านมาหลายฉบับ แต่มีจำนวนมากที่มาจากรัฐประหาร เกิดจากการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาธิปไตยมีจำนวนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ฉะนั้น รัฐประหารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตย เราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามให้มีการรัฐประหาร หากใครกระทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยอมรับรัฐประหารได้ และเรื่องรัฐประหารต้องหมดไป

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของตนดั่งเดิมเห็นเหมือนกับที่นายชัยธวัช ระบุว่าตั้งมีการประชามติ 3 ครั้ง คือถามไปตอนที่ยังไม่มีร่างเข้าสู่สภาฯ แต่เมื่อประชาชนเห็นควรจึงมาแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร. จากนั้นก็ถามประชาชนอีกครั้ง แต่ขณะนี้มีความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้วพบว่าประเด็นเรื่องการทำประชามติกี่ครั้งนั้น เราไม่เคยถามศาลรัฐธรรมนูญเลย และยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติ 2 ครั้งก็มีคนบอกว่าจะประหยัดเงินไป 4,000 ล้านบาท

“ยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากส.ส.ร. และส.ส.ร.ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้น กระบวนการยกร่าง ที่มาของผู้ยกร่างจำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชน ย้ำว่ากระบวนการส.ส.ร.ควรจะต้องเกิดขึ้นและควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้” นายชูศักดิ์ กล่าว