ศธ.เตือนเลือกซื้อของกินของเด็กในวัยเรียนที่นิยมซื้อของตามกระแสโซเชียลมาบริโภค แนะนำครู ผู้ปกครอง ป้องกันก่อนเกิดเหตุ ทำความเข้าใจกับผู้เรียนต่อโทษและพิษภัย คอยสังเกตร้านค้าบริเวณโรงเรียนและชุมชนอย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงของกินที่อาจส่งผลต่อสุขภาพเด็กไทยในระยะยาว

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อห่วงใยของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องของกินในกระแส “ขนมไขขี้ผึ้ง” (Wax Candy) ที่กำลังดังและกำลังเป็นที่นิยมของเด็กอยู่ในขณะนี้ ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้รับการอนุญาตจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่มีฉลากภาษาไทยถือเป็นการนำเข้าอาหารโดยผิดกฎหมาย เรียกง่าย ๆ ว่า “ขนมเถื่อน” ให้ตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในรูปแบบขนม ควรหลีกเลี่ยงอย่าเสี่ยงรับประทาน

สำหรับขนมไขขี้ผึ้งที่เป็นกระแสจากแพลตฟอร์ม TikTok เป็นขนมที่มีสีสันและรูปร่างน่ากิน ต้องเคี้ยวกินน้ำหวานรสผลไม้จากด้านใน ส่วนไขผึ้งที่เคลือบเปลือกด้านนอกสัมผัสคล้ายเทียนไขต้อง “คายออก” เท่านั้น เพราะร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ นอกจากเสี่ยงติดคอจากการเคี้ยวกลืนแล้ว สารที่เคลือบขนมยังเสี่ยงลำไส้อุดตัน ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารไม่ย่อย รวมถึงสารปนเปื้อนในขนมหรือของกินที่ไม่ได้มาตรฐาน หากตกค้างเป็นก้อนขวางในลำไส้ ขับถ่ายไม่ได้ อาจถึงขั้นผ่าตัด ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ด้วยแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย บวกกับกระแสโซเชียลที่กระหน่ำการขายอย่างรวดเร็ว เด็กในวัยเรียนที่ยังขาดวุฒิภาวะอาจจะตัดสินใจซื้อโดยไม่ได้ไตร่ตรองถึงประโยชน์และโทษ ครูและผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดจึงเป็นคนสำคัญที่จะให้คำแนะนำกับเด็กได้ดี ในการเลือกซื้อของกินที่มีประโยชน์ มีโภชนาการครบถ้วนที่จำเป็นต่อร่างกาย คอยแนะนำให้เด็กสังเกตขนมที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุส่วนผสมอาหาร ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต ไม่มีวันหมดอายุ ไม่แสดงชื่อบริษัทผลิตและที่ตั้งผู้นำเข้า ให้เข้าใจว่าเป็นขนมที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรซื้อ ไม่ควรรับประทาน

อยากฝากถึงคุณครู ผู้ปกครอง รวมถึงคนในชุมชน ร่วมกันสอดส่องร้านค้าบริเวณโรงเรียนและร้านขายของชำทั่วไป รวมถึงร้านค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรขายหรือซื้อมารับประทานเพราะมีโอกาสเสี่ยงได้รับสารที่อาจเป็นอันตราย หากพบเห็นและทำความเข้าใจร่วมกันโดยเร็ว จะเป็นด่านแรกในการป้องกันภัยรอบตัวผู้เรียน เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพตามนโยบายความปลอดภัยของ ศธ. ที่เน้นย้ำเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้เรียนเป็นลำดับสำคัญที่สุด

ขอบคุณภาพจากเพจผู้บริโภค