DPU ผนึก IRC ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ดันยางรถจักรยานยนต์ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เผยในฐานะ Green University เตรียมตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา-รับรองด้านก๊าซเรือนกระจก พร้อมให้คำปรึกษาฟรี! ปี 67

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดย ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการและรองอธิการบดีสายงานวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วย นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในโครงการการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ในกระบวนการกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยมี ผศ.ดร. ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ  DPU พร้อมด้วย รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ นักวิจัยอาวุโส ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี  (CIBA) และนายบัณฑร ศรีวงษ์จันทร์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและผู้จัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย IRC ร่วมเป็นสักขีพยาน  ณ ห้องประชุมสัจจา 1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการและรองอธิการบดีสายงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า DPU กับ IRC มีเจตจำนงในการร่วมมือกันพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การขอรับรองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย การ MOU ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศว่าไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 จากปฏิญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับนานาประเทศในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ทำให้ทุกองค์กรรวมถึง DPU ตระหนักถึงความสำคัญและได้ขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว

สำหรับ DPU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนโยบาย Decarbonization ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร โดยมี Sustainability อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดใช้พลังงานต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรและนักศึกษา รวมถึงบุคลากรภายนอกที่มาใช้สถานที่ของ DPU และในปี 2567 มีแผนจัดตั้งศูนย์ Hub of Net Zero หน่วยงานให้คำปรึกษาและรับรองในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์สินค้า รวมทั้งการส่งเสริมแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างหน่วยงาน  ให้กับผู้สนใจทั่วไป

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ IRC กล่าวว่า วิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิบัติงานของ IRC คือการเป็นองค์กรที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจภายในปี 2050 ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีนโยบายลดโลกร้อนด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเริ่มดำเนินการทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรทั้ง Scope I และ Scope II ตั้งแต่ปี 2022-2024 สำหรับ Scope III เป็นเรื่องเกี่ยวกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ หรือเน้นทำกับ Supply Chain เช่น วัตถุดิบตั้งต้นที่ซื้อมา การขนส่งจากผู้ผลิตวัตถุดิบ การเดินทางของลูกค้าและผู้มาติดต่อ เป็นต้น ความร่วมมือระหว่าง IRC กับ DPU ครั้งนี้ จะมีการศึกษาเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คาร์บอนเครดิตพร้อมทำการประเมิน Scope III ร่วมกัน เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายสู่การเป็น Net Zero

รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ นักวิจัยอาวุโส DPU กล่าวว่า การคำนึงถึงเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศฝั่งยุโรปที่มีการบังคับใช้กฎหมายด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทต่างๆ มีการตั้งเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า โดยพิจารณาซื้อสินค้าจาก Supplier ที่ปฏิบัติตามหลักการลดโลกร้อนและมีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นองค์กรหรือบริษัทที่มีรายงานการวัดและประเมินเรื่องคาร์บอนจะได้เปรียบทางการค้ามากกว่าบริษัทอื่น อนาคตการแข่งขันทางธุรกิจจะยากขึ้น ทุกบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจึงต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการประเมิน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ อย่างต่อเนื่อง

ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี  (CIBA) DPU กล่าวเสริมว่า สำหรับความร่วมมือ ระหว่าง DPU และ IRC ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่เน้นด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยบริษัท IRC เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้ที่ผ่านมา IRC ได้ดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กรแล้ว จึงมีความสนใจที่จะทำในระดับผลิตภัณฑ์ โดย ในเบื้องต้นนี้ จะร่วมกันประเมินผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยางประเภทต่างๆ โดยประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การขนส่งรับวัตถุดิบ นำมาผลิตจนถึงฝังกลบ ผลของการประเมินปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยตลอดอายุของผลิตภัณฑ์นี้จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่อไป นอกจากนั้น ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำเข้าไปจัดเก็บในฐานข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  หรือ อบก. เพื่อแสดงรายละเอียดต่างๆ และใช้เป็นมาตรฐานการประเมิน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ประเภทยางรถจักรยานยนต์ต่อไป

“การไปถึงเป้าหมาย Net Zero ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน บริษัทขนาดเล็ก หรือ SME อาจต้องเริ่มตระหนักถึงเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะในอนาคตจะมีตัวกฎหมายออกมาบังคับใช้ในการประเมินคาร์บอน ตลอดห่วงโซ่ของ Supply Chain ซึ่งมีผลกับธุรกิจและการคำนวณภาษี และมีผลต่อการค้าและธุรกิจโดยเฉพาะกับต่างประเทศที่มีข้อกำหนดเรื่องคาร์บอนเครดิต อย่างไรก็ตาม บริษัท SME หรือผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้ารับการปรึกษาอบรมเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือคาร์บอนเครดิต DPU มีศูนย์ให้คำปรึกษาฟรี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิจัย DPU RDI D P U R D I" ดร.รชฏ กล่าว