“ศุภชัย”ยัน รมว.การอุดมศึกษาฯ ทำจริงเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ. ต้องไม่ยืดเยื้อ ขอให้สภามสธ.เร่งดำเนินการโดยเร็ว หากไม่เป็นผลอาจต้องใช้มาตราการทางกฎหมาย เข้าควบคุม มสธ.”

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้รับการประสานงานจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ให้ เข้ามาประสานงาน ภารกิจ ติดตามนโยบายและตรวจสอบการดำเนินงานของกระทรวง อว. โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขปัญหาการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี มสธ.ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.(นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี)ได้พยายามอย่างยิ่งเพื่อหาทางออก จัดการเรื่องดังกล่าวนี้ให้ยุติโดยเร็ว จึงได้สั่งการให้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 

“โดยที่ประชุมมีมติที่ประชุมร่วมกันอย่างชัดเจนว่า ขอให้ทางสภามหาวิทยาลัย มสธ.เร่งดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี ให้เรียบร้อย โดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในกรณีคดีความการถอดถอนของอธิการบดีรายเดิม” 

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มีหนังสือบัญชาสั่งการไปยัง สภามสธ.  สั่งการเสนอแนะว่า ให้สภา มสธ.เร่งดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี รายรศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ มายังสำนักงานปลัดกระทรวง อว.เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการในเรื่องต่างๆได้อย่างมีธรรมาภิบาล  

นายศุภชัย กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีกระทรวง อว.ใช้อำนาจสั่งการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวง อว. พ.ศ. 2562 มาตรา 17 (10) ซึ่งหนังสือสั่งการฉบับนี้ ทางมสธ.ควรต้องเร่งรีบดำเนินการ และหนังสั่งการฉบับนี้ยังมีศักดิ์ทางกฎหมายที่สูงกว่าหนังสือความเห็นของอนุกรรมการด้านกฎหมายของกระทรวง อว.ที่ทางสภา มสธ.นำมาใช้อ้างว่า ต้องรอศาลพิพากษาก่อน ดังนั้น เรื่องนี้ต้องจบได้แล้ว ที่ผ่านมาไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับมหาวิทยาลัยเลย ที่มีการประวิงเวลาไปเรื่อย ๆ  เพราะการที่ไม่อธิการบดีตัวจริง จะทำงานเชิงบริหารที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร มีผลประโยชน์อะไรที่ปกปิดอยู่หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมสธ.อย่างยิ่ง”

นายศุภชัย เปิดเผยเพิ่มอีกว่า “เท่าที่ผ่านมาผมทราบว่า ปัญหาของ มสธ.ยังมีอีกหลายเรื่องมีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และกระทรวง อว. ให้ตรวจสอบอยู่ ตามที่ปรากฎในสื่อข่าวสารต่างๆ ดังนั้นแล้ว มสธ. อาจจะเข้าข่ายขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ดังนี้  1.ปัญหาเรื่องการยืมตัวข้าราชการจากจุฬาลงกรณ์ มาปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดี มสธ. ทำงาน 2 แห่ง รับเงิน 2 ทาง โดยบัดนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติการยืมตัวจากปลัดกระทรวง อว. นานกว่า 2 ปีแล้ว ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการยืมตัวที่ชัดเจน และพบว่ารักษาการแทนอธิการบดี รายนี้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่น รวมกันเกินกว่า 3 แห่ง ซึ่งขัดกับระเบียบข้อบังคับคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งกรรมการสภา มสธ. 2.ปัญหาเรื่องการสรรหานายกและกรรมสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่รอการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ทั้งชุด ถูกกล่าวหาว่า ผลัดกันเกาหลัง ได้ชุดเดิมกลับมาเหมือนเดิมอีก ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติว่ามีผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือไม่ และก่อนการสรรหายังไม่มีการแก้ไขข้อบังคับการสรรหาใหม่ให้รองรับกับแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลของกระทรวง อว. 3.ปัญหาสภา มสธ. นำเงินรายได้มสธ.ไปลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 5,500 ล้านบาท จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ และการลงทุนในสถานการณ์ขณะนี้มีความเสี่ยงขาดทุน   4.ปัญหาการจัดจ้างพัฒนาระบบทดสอบออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19  5.ปัญหาการบริหารงานภายในมสธ. ที่อาจเข้าข่ายเป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ มีการแต่งตั้งฝ่ายบริหาร ตำแหน่งรักษาการแทนรองอธิการบดี และ ตำแหน่งผู้อำนวยการ ให้ไปดำรงตำแหน่งรักษาการหน่วยงานภายในอื่น ซึ่งควบตำแหน่งในคราวเดียวกัน หลายตำแหน่ง หลายหน่วยงาน 

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า “การประชุมหาทางออกร่วมกันทุกฝ่ายนั้น เป็นที่ยุติแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันดี รวมถึงได้มีหนังสือสั่งการโดยรัฐมนตรีกระทรวง อว. แจ้งไปยังสภามสธ.แล้ว ให้สภา มสธ.เร่งเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี แล้วนั้น 

ทั้งนี้ หากยังไม่เป็นผลในเวลาอันสมควร สภามสธ.ยังไม่เร่งดำเนินการให้เรียบร้อย อาจจำเป็นต้องใช้มาตราการทางกฎหมาย เข้าควบคุม มสธ. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ตามอำนาจและหน้าที่ของรัฐมนตรี อว. ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๙/๒๕๕๙ เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ต่อไป”