กองทัพเรือและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสครบรอบ 56 ปี วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม 2566 

กีฬาเรือใบ ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เพราะต้องแล่นใบกลางทะเลที่มีคลื่นลม อยู่ห่างจากฝั่งไกลกลายกิโล ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่ง ความว่า “การเล่นเรือสอนให้คน คิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือแล้ว เรือไมวิ่ง จะไมมีใครคอยสอน เราตองคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้เราสู้ไหวไหม ถ้าไหว เราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหว แล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบาเราจะต้องทำย่างไร เรือจึงจะวิ่ง และถ้าไม่มีลม เราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะ นั่งรอสักครูให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น รู้ทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการ ใช้ชีวิต เด็กไทยจะรูจัก และเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง"

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเรือใบประเภทโอเค ที่ทรงต่อขึ้นเองพระราชทานชื่อเรือว่า "เวคา" เสด็จข้ามอ่าวไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 ระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเลจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินโดยลำพังด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม และได้ทรงนำธงราชนาวิกโยธินที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วย ปักเหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน นำมาซึ่งความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

ถัดมาในปี พ.ศ.2510 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในกีฬาเรือใบ ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงชนชาวไทยก็คือ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นบนแท่นรับเหรียญรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ซึ่งชัยชนะครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับและจารึกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก

เมื่อเวลาที่ทรงว่างเว้นจากพระราชภารกิจ พระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงเรือใบร่วมกับข้าราชบริพารและนายทหารเรือเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นประจำ ระหว่างทีมสโมสรจิตรดา และทีมราชนาวี โดยทั้งสองทีมจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในทุกๆ ปี โดยจะจัดการแข่งขันในห้วงระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล และทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง จึงนับได้ว่ากีฬาเรือใบเป็นกีฬาที่มีความใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่องตราบจนในรัชกาลปัจจุบัน

เป็นที่ประจักษ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังโรงแรมบียอนด์ กะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ไปทรงฝึกซ้อมการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแสดงพระปรีชาสามารถและทักษะในการบังคับทิศทางเรือระหว่างทรงร่วมแข่งขันในทีมเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร่ ในทีมวายุ หมายเลข เรือ THA 72 จนทำให้เรือนำเข้าสู่เส้นชัย ลำดับที่ 1 ทั้งสองรอบการแข่งขันในการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ที่หาดกะตะ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566

ในโอกาสวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ซึ่งครบรอบ 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 กองทัพเรือและสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดให้มีพิธีถวายราชสักการะ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย และพระอัจฉริยภาพในการทรงต่อเรือใบ ณ หาดเตยงามอ่าวนาวิกโยธินซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญที่ได้ทรงเรือใบข้ามอ่าวมายังสถานที่แห่งนี้

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฯ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย