องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแปกแซม ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 33 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 143 ถุง ประกอบด้วย ราษฎรในพื้นที่ จำนวน 122 ถุง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 21 ถุง ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้ จากนั้น องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร และเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านแปกแซม หมู่ที่ 5 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ แต่ป่าไม้กลับถูกบุกรุกทำลายใช้เป็นที่ทำกิน และมีแนวโน้มว่าจะถูกแผ้วถางไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อปัญหายาเสพติด จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาความเป็นอยู่และบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 3 หมู่บ้าน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน เพื่อให้ราษฎรเป็นผู้ชำนาญการด้านป่าไม้ การเกษตร และการปศุสัตว์ รวมทั้งอนุรักษ์สภาพป่า และสภาพแวดล้อม ให้คืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิม เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และการเกษตร โดยให้จัดตั้งสถานีสาธิตและถ่ายทอด การเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมขึ้น บริเวณสวนมันอะลู ผลจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริทำให้ราษฎรบ้านแปกแซม และบ้านหินแตว ประกอบอาชีพในด้านการเกษตร พืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วแดง มันอะลู เผือก เป็นต้น บางครั้งมีการปลูกผัก เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และมีรายได้จากการเป็นแรงงานในสถานีและอาชีพนอกภาคเกษตร ในยามว่างจะใช้เวลาในการทอผ้า เพื่อทำเป็นเสื้อผ้า หรือกระเป๋าย่ามจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน ราษฎรสามารถนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปขยายผลที่บ้านและพื้นที่ทำกินของตนเอง ทำให้มีรายได้เสริมจากการเกษตร ปศุสัตว์ เฉลี่ยครอบครัวละ 36,000 บาทต่อปี มีสุขภาพพลามัยและสุขอนามัยที่ดีขึ้น สามารถเรียนรู้การใช้ภาษาไทยและการคิดเลขเป็น ความเป็นอยู่ดีขึ้น ดัชนีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับดีมาก นอกจากนี้ ราษฎรยังให้ความร่วมมือไม่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยหรือทำลายป่า การล่าสัตว์ป่าลดลง ทำให้สภาพป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นถึง 10,500 ไร่ มีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 1 กลุ่ม มีการสร้างฝายชะลอน้ำทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยมีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้มลพิษทางอากาศลดลง จากความร่วมมือของราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้ง พื้นที่โครงการฯ สามารถใช้เป็นสถานที่ทัศนศึกษา ดูงาน ตามแนวพระราชดำริได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการในพื้นที่สถานีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากผู้เข้ามาเที่ยวชมกิจกรรมต่างๆ ในครั้งนี้

จากนั้น องคมนตรี เชิญถุงพระราชทาน จำนวน 40 ถุง ไปมอบแก่ทหาร หมวดทหารม้าที่ 13 กองร้อยทหารม้าที่ 1 ณ ฐานปฏิบัติการบ้านแปกแซม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ต่อมา คณะเดินทางไปยังฐานปฏิบัติการปางโยน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเชิญถุงพระราชทาน รวม 40 ถุง ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจตระเวนชายแดนกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 336 จำนวน 30 ถุง ทหารหน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท (ฉก.ร.17) จำนวน 10 ถุง โอกาสนี้ องคมนตรีได้ให้โอวาทแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดน และรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่

ช่วงบ่าย เดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (กลุ่มบ้านมะโนรา) โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ป่าสักนวมินทรราชินี” ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน และเสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 4 พื้นที่หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ 1) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 กลุ่มบ้านนาอ่อน เสื้อกันหนาว จำนวน 41 ตัว ถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร จำนวน 248 ถุง และถุงพระราชทานมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 3 ถุง 2) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 2 กลุ่มบ้านห้วยซลอบ เสื้อกันหนาว จำนวน 128 ตัว ถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร จำนวน 84 ถุง และถุงพระราชทานมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 10 ถุง 3) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 กลุ่มบ้านมะโนรา เสื้อกันหนาว จำนวน 19 ตัว ถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร จำนวน 53 ถุง และถุงพระราชทานมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 5 ถุง 4) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 4 กลุ่มบ้านห้วยปมฝาด เสื้อกันหนาว จำนวน 25 ตัว ถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร จำนวน 62 ถุง จากนั้น องคมนตรีและคณะพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร และรับฟังบรรยายเกี่ยวกับโครงการ ประกอบด้วย สรุปผลการจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ป่าสักนวมินทรราชินี) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยผู้แทนสำนักงาน กปร. และสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โดยผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อจากนั้น เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ

โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ป่าสักนวมินทรราชินี” เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอพระราชทานโครงการ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินงานออกเป็น 4 หน่วยปฏิบัติการ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 (กลุ่มบ้านนาอ่อน) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 2 (กลุ่มบ้านห้วยซลอบ) หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (กลุ่มบ้านมะโนรา) และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 4 (กลุ่มบ้านปมฝาด) สามารถรักษาพื้นที่โครงการฯ พื้นที่รวม 498.87 ตารางกิโลเมตร หรือ 311,792 ไร่ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ถูกบุกรุกทำลาย โดยชุมชนมีส่วนร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศและรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 4 หมู่บ้าน จำนวน 654 ครัวเรือน ประชากร 2,285 คน มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร