ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง ขับเคลื่อนนโยบายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ติดตั้งระบบ Solar Rooftop 84 อาคาร นำร่องที่บางเขน

วันที่ 22 ธ.ค.66 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการโครงการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายรณชัย เรืองยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง และคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชมป์อันดับ 1 ม.สีเขียวของไทย ติดต่อกัน 3 ปี ซ้อน (2564-2566) ขึ้นแท่นอันดับที่ 38 ของโลก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประกาศนโยบายและเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2035 เพื่อสนองตอบต่อนโยบายก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับการไฟฟ้านครหลวง เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานด้านมิติพลังงานคือการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน โดยจะติดตั้ง Solar Rooftop กับอาคารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขน จำนวน 84 อาคาร เพื่อเป็นการช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดโลกร้อน ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และที่สำคัญคือช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า โดยการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ดูแลการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ที่จะถึงนี้

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง มีนโยบายและแผนปฏิบัติงานเพื่อความยั่งยืนเช่นเดียวกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ดำเนินงานต่อยอดจากมหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน นับเป็นการร่วมมือกันขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์บนเส้นทางสีเขียว พลังงานสีเขียว เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงยั่งยืน การไฟฟ้านครหลวงมีความยินดีและมั่นใจในการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมให้บริการความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานและขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และการไฟฟ้านครหลวง โดยทางมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จะนำองค์ความรู้ผนึกกับความเชี่ยวชาญของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในเรื่องระบบไฟฟ้าและมาตรฐานของอุปกรณ์ ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด

“โครงการนี้จะเป็นต้นแบบนำร่องให้กับหลายๆ องค์กรในการเลือกใช้พลังงานทางเลือก อีกทั้งยังเป็นบทเรียนที่ดีให้กับนิสิต อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้นำไปเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดภาระด้านพลังงานของประเทศ ตอบสนองมาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ตามมาตรฐานต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ ทั้งในเรื่องของการวิจัยและการศึกษาต่อไปในอนาคต”

สำหรับโครงการดังกล่าว การไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และติดตั้งระบบ และบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า ฯ ตลอดอายุโครงการ โดยจะดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) ขนาด 10.14 MWp ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ประหยัดค่าไฟฟ้าลงกว่าร้อยละ 20 สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการลดใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง ตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ

นอกจากนี้ ยังลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลประมาณ 12,967.96 MWh/ปี คิดเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงประมาณ 6,185.71 tonCo2/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นสัก 351,461 ต้น และจะสามารถสร้างพลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน ตลอดจนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะสนับสนุนนโยบายลดโลกร้อนของประเทศ “KU Goes Green and Carbon Neutrality” รวมถึงแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ของประเทศ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG: Sustainable Development Goals) เพื่อประโยชน์ต่อทั้งมหาวิทยาลัย ประชาชน และสังคมโลก