มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกับค่ายมวยชินราชมวยไทย และเทศบาลตำบลเกาะพะงัน โดยมีนายอภิชาติ ลิ้มสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลเกาะพะงันและรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  เป็นประธานเปิดการแข่งขันชกมวยไทย แบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การจัดการแข่งขันครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)  ของวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย  ผนึกกำลังร่วมกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ชูประเด็นท่องเที่ยวเชิงกีฬาคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ SOFT POWER บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น  มุ่งเป้าดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นท่องเที่ยวยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานของชุดโครงการวิจัย การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือมีชื่อย่อๆ ว่า (บพข.) โดยมีคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงกีฬาคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Sport Tourism) หมายถึง การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่ไม่มีหรือเสมือนว่าไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จากกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเป็นกลางทางคาร์บอน จนเสมือนว่าไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นๆเลย และเพื่อตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (green university)

“เรามุ่งเน้นที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก โดยที่นักท่องเที่ยวยังได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวเช่นเดิม เป็นแผนการเดินทางในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง มีการเลือกใช้บริการขนส่ง ที่พัก อาหาร ลดการปล่อยของเสียและเลือกใช้กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ทำกิจกรรมเพื่อกำจัดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว”

ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชมการแข่งขันชกมวยไทย เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Event tourism) ที่มีลักษณะเฉพาะของการท่องเที่ยวคือ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกเวลา เนื่องจากต้องรอท่องเที่ยวให้ตรงกับวัน เวลาในการจัดการแข่งขัน และเป็นการเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวคราวละจำนวนมา

สำหรับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง Pre & Post อีเว้นท์ที่มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พิจารณาจาก 3 ส่วนสำคัญได้แก่ 1.จุดขายของเมือง ซึ่งดูว่าเมืองที่เราเลือกมีเรื่องราว (Contents), 2. ความเดิมแท้ของท้องถิ่น (Authenticity) และ 3.มีความเหมาะสมลงตัวเชิงลึกกับนักท่องเที่ยว (Insight) ที่นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมรายได้ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความแข็งแกร่งแก่ชุมชนระดับฐานรากแล้วในระดับ มหภาคยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนอีกด้วย