วันที่ 25 ธ.ค.66 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนภายหลังเข้ารับการไต่สวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดี ที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 

นายชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าการไต่สวนเป็นไปด้วยดี เรายังมั่นใจว่า ตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเจตนาของเราสามารถชี้ได้ว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และก่อนหน้านี้ได้ทำคำชี้แจงในประเด็นสำคัญๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้หลักๆ มาตอบคำถามที่ตุลาการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งมีคำถามหลากหลาย ซึ่งพูดได้ไม่หมด เพราะระหว่างไต่สวน รอบของนายพิธากับรอบของตนนั้น ตนไม่ได้อยู่ในห้องด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค. 2567

เมื่อถามว่า หลังศาลไต่สวน ยังเชื่อมั่นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่าการเสนอร่างกฎหมายโดยการใช้กระบวนการนิติบัญญัติ และแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญา หมิ่นประมาท เรายังมั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ทั้งนี้การเสนอร่างใดๆ มีกระบวนการของสภาแล้วไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 วาระที่ 2 วาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ ต้องใช้กรรมาธิการในการคัดกรองพิจารณาเนื้อหาซ้ำอีกครั้ง ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด่วยรัฐธรรมนูญก่อนผ่านสภา ก่อนประกาศใช้จะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการเสนอกฎหมายไม่มีทางนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้

ด้านนายพิธา กล่าวว่า การไต่สวนในวันนี้ตนก็ยังมั่นใจว่ากระบวนการราบรื่นดี พอใจที่ได้แถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งที่ตั้งใจมาเป็นไปตามความคาดหมาย ยังมั่นใจในข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องข้อเสนอแก้ไขทางนิติบัญญัติไม่ได้มาจากพรรคเราเป็นพรรคแรก แต่มาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ​ ก็ดี รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน​วัต​ร เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่ยื่น ดังนั้นน่าจะยืนยันได้ในเรื่องของเจตนาว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง

เมื่อถามว่า หากผลการตัดสินออกมาเป็นคุณ ทั้ง 2 คดี จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังทำงานกับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าออกมาเป็นคุณ บทบาทของตัวเองในพรรคก้าวไกลก็ต้องรอเดือน เม.ย. 2567 ที่จะมีการประชุมวิสามัญใหญ่พรรคก้าวไกล ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดอะไร สามารถทำงานการเมืองได้ทุกรูปแบบ ไม่กังวลใจยังสามารถทำงานต่อได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขมาตรา 112 ยังจะสามารถเป็นนโยบายหาเสียงครั้งต่อไปได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า นโยบายเป็นของ สส.ชุดที่แล้ว และเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็น สส. ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยกันในพรรคว่า ปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่

เมื่อถามย้ำว่า หากศาลวินิจฉัยทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือให้เรายุติ ยกเลิกนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อจุดยืนการทำงานของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอให้คำพิพากษาศาลออกมาก่อน เป็นเรื่องของ สส. แต่ละคน ดูสถานการณ์บริบทของบ้านเมืองซึ่งแตกต่างกันไป ตอนที่เรายื่นตอนนั้นก็ต้องเข้าใจว่าบริบทการเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง และมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อยเป็น 268 คดี ในปี 2563 โดยมีเยาวชน 20 กว่าคน ดังนั้นในปี 2564 เราจึงคิดว่า นี่เป็นทางฝ่ายการเป็นทางออกของการเมืองตอนนั้น ดังนั้นหลายเรื่อง หลายๆ เวลา ต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมคือการได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ก็ต้องทางออกในรัฐสภาที่เรายึดถือ ณ ตอนนั้น ตอนนี้ก็ต้องแล้วแต่ สส. แต่ละคน และสถานการณ์ ดูองค์ประกอบหลายเรื่อง รวมถึงสถานการณ์ตอนนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินตัวเองหลังไต่สวนให้กี่คะแนน นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ตอบเป็นตัวเลข แต่ก็พอใจ หากย้อนกลับไปได้เท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรอยากจะทำเพิ่ม ทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้ต้องรอคำพิพากษา ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ปากคำ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ 4 – 5 คน มาให้ความเห็น ส่วนรายละเอียดให้ความเห็นอย่างไรนั้นไม่สามารถบอกได้

#มาตรา112 #พรรคก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ