วันที่ 26 ธ.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา หลังก่อนหน้านี้ได้มีการหารือ พลเอกอาวุโส ตานฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ว่า ขณะนี้สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมายังมีการสู้รบกันอยู่ ซึ่งเมียนมาอยู่ติดกับชายแดนไทย โดยมีความยาวกว่า 2,400 กม. ฉะนั้นไทยจึงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหาทางเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือโดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

นายปานปรีย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศระหว่าง 2 ประเทศได้มีแนวคิดจัดตั้ง Humanitarian Assistance หรือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย และสามารถลำเลียงยา อาหาร เข้าไปให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งตรงส่วนนี้รัฐบาลทหารเมียนมา และกองกำลังชาติพันธุ์เห็นชอบในหลักการ และจะมีการส่งคณะทำงานเข้ามาประชุมในต้นปีหน้า เพียงแต่ยังไม่ได้รับการแจ้งว่า คณะทำงานดังกล่าวของเมียนมาจะอยู่ในระดับใด

ส่วนประเทศไทยจะเป็นแกนนำในการทบทวน "ฉันทามติ 5 ข้อ" ของอาเซียน ในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมาหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเข้าไปร่วมทำฉันทามติกับอาเซียนในเวลานั้น ซึ่งขณะนี้อินโดนีเซียยังคงเป็นประธานอาเซียน และในปีหน้าจะเป็นประเทศลาว ดังนั้นประเทศไทยยังคงต้องสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ เนื่องจากเคยรับรองฉันทามติไว้ 

สำหรับการพูดคุยในระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเมียนมา เนื่องจากไทยถูกมองว่า มีสถานะพิเศษที่สามารถพูดคุยเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาได้นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย และเมียนมาไม่มีอะไรไม่ดี เราเป็นมิตรประเทศต่อกัน ประชาชนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กัน ซึ่งปัญหาภายในของเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่เขาต้องจัดการให้เรียบร้อย เราเป็นหนึ่งในอาเซียนจึงแทรกแซงไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฟอร์ติฟายไรต์ ได้มีข้อเสนอให้ทางการไทยตัดเส้นทางการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมาในไทยเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้เงินซื้ออาวุธไปสู้รบกับประชาชน 

นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และถ้าเราตัดเส้นทางการเงินจะมีผลกระทบกับพี่น้องชาวไทย และชาวเมียนมาที่ค้าขายกันอยู่ ซึ่งประชาชนไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เท่าที่ทราบมา ในช่วงเวลานี้สกุลเงินเมียนมาตกลงไปเยอะมาก