นายกฯเปิดหัวแถลงร่างงบฯปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ คาดสร้างรายได้เข้ารัฐ 2.7 ล้านล้าน ฝ่ายค้านรุมชำแหละ  จัดสรรงบฯ เปรียบเหล้าเก่าในขวดใหม่ ไม่ตอบโจทย์ เป็นเบี้ยหัวแตก จุรินทร์ ตั้งฉายา งบฯเป็ดง่อย เหน็บเหตุงบฯ ล่าช้า มัวไปตั้งรัฐบาลเพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด 

    
 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดการประชุม พร้อมแจ้งเวลาอภิปราย 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-5 ม.ค. รวม 43 ชั่วโมง โดยฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลได้ฝ่ายละ 20 ชั่วโมง 
    
 จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลความจำเป็นในการใช้งบปี 67 ว่า จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 
    
 สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้อยู่ที่ 2,787,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.1 และสามารถชดใช้เงินคงคลัง และชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย โดยจะเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ 2568 อีกด้วย
    
 นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง โดยการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
    
 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ด้านสังคม จะใช้งบประมาณสูงที่สุด 834,240.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด เน้นไปที่การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาส รวมไปถึงเสริมสร้างบุคลากร นอกจากนี้ ยังสร้างหลักประกันทางสังคม โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น 
    
 ขณะที่ ด้านความมั่นคง ใช้งบประมาณ 57,162.1 ล้านบาท ในการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ เพื่อให้หน่วยงานด้านการข่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนากิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่อาจนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายในประเทศ
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อรัฐสภามีจำนวน 45 หน้า ใช้เวลาในการชี้แจงเกือบ 2 ชั่วโมง
   
  ต่อมา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว
     
ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ฝ่ายค้านได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ หรือไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้
    
 แต่วันนั้นนายกฯ บอกให้รอดูแผนรายกระทรวง จะมีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งเมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวงก็พบว่ามีปัญหา คือ ไม่มีตัวชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบาย เมื่อมาดูไส้ในของแผนงานเหล่านั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ บ้างก็ยัดโครงการประจำของกระทรวงเข้ามาในแนวนโยบายที่รัฐบาลจะทำ

  ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 คณะรัฐมนตรีมีมติสั่งทบทวนร่างพ.ร.บ.งบปี 67 ใหม่ และเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมทบทวนแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 67 ใหม่ รัฐบาลใช้เวลา 3 เดือน ในการปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การจัดสรรงบใหม่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายใหม่ แต่สุดท้ายหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้กลับไม่ต่างไปจากเดิม ซึ่งจะพบว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย
   
  หัวข้ออาจจะสวยหรู แต่ไส้ในตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร หากดูภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ จะพบว่าเป็นงบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน บางเรื่องหน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ในแล้ว พบว่าไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ แต่เอามาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนปกใหม่แบบมั่วๆ โครงการเก่าๆ เดิมๆ แต่เอามาโยงให้เข้ากับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วมาเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ของรัฐบาลใหม่ 
    
 นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ปัญหาของพ.ร.บ.งบประมาณ ยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ การที่เรามองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจที่ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นการรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว
   
  เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นการจัดตั้ง ครม. แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด เพราะไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน พรรคแกนนำรัฐบาลที่ควรจะมีเป้าหมายในการผลักดันเรือธงให้ได้ก็ไม่ได้วางคนไปบริหารกระทรวง กรม หรือหน่วยงานอย่างบูรณาการ ดังนั้น เราจึงเห็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล การกำหนดแผนงานรายกระทรวง ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณอย่างที่ได้กล่าวมา วันนี้จากที่เคยบอกว่าคิดใหญ่ทำเป็น บางวันก็กลายเป็นคิดไปทำไป คิดสั้นไม่คิดยาวบ้าง หรือไม่ก็คิดอย่างทำอย่างก็มี
    
 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ว่า แม้จะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เรียนว่าพ.ร.บ.งบประมาณรายปีเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือไม่ก็ยุบสภาฯ ซึ่งก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องไประดมส.ส.รัฐบาลมาลงคะแนนเสียงให้ได้ และเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาวาระแรกได้ เพราะรัฐบาลมีเสียงส.ส. ในสภาฯ แบบเด็ดขาดถึง 314 เสียง ถ้าไม่ผ่านตนคิดว่านายกฯ ต้องเลิกใส่ถุงเท้าสีแดงได้แล้ว
     
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบทั้งตัวงบประมาณฯ และผู้ใช้งบประมาณฯ สิ่งที่นายกฯ กล่าวคำแถลงมาทุกอย่างดีหมด ซึ่งงบประมาณฉบับนี้ ถือเป็นงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ เกิดจากการเอางบประมาณปี 66 ซึ่งเป็นของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มารื้อทำใหม่หมด ส่งผลให้ปฏิทินงบฯปีนี้ล่าช้าไปกว่า 9 เดือน เนื่องจากใช้เวลาไปตั้งรัฐบาล เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด อยู่หลายเดือน แต่หลัง ครม.มีมติให้รื้องบประมาณดังกล่าว ก็ใช้เวลาอีกหลายเดือนเช่นเดียวกันกว่าจะกลับเข้าสู่สภาฯ ได้ ทำให้งบประมาณฉบับนี้ต้องไปบังคับใช้ประมาณเดือนพ.ค.จึงส่งผลให้งบประมาณฉบับนี้ เป็นงบฯ ฉบับเป็ดง่อย เพราะงบประมาณทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือน จากปกติปกติ 12 เดือน เท่ากับว่ามีเวลาใช้เงินแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญคือประสิทธิภาพของการใช้เงิน เรื่องของใช้เงินงบลงทุนที่เป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่มีเวลาใช้เพียง 5 เดือน สุดท้ายก็จะเป็นงบ เป็ดง่อย ไม่สามารถนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เต็มร้อย
     
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงการแถลงงบประมาณประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎรของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า  นายกรัฐมนตรีได้แถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 อย่างครบถ้วน โดยได้ชี้แจงหลักการ เหตุผล รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณตามแผนการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมทั้งการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ได้แก่ ความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
     
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่าจะดำเนินงานตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ และเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้พิจารณาการบริหารงบประมาณนี้เป็นอย่างดี โดยจะนำเงินงบประมาณมาดำเนินนโยบายในระยะสั้น และระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส 
       
นายกรัฐมนตรีแถลงงบประมาณประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 อย่างครบถ้วน ครอบคลุม ระบุความจำเป็น เหตุผล ตามการกำหนดยุทธศาสตร์ ระบุแยกแยะตามยุทธศาสตร์ ชัดเจน ครบถ้วน โดยโฆษกรัฐบาลเชื่อว่า รัฐบาลจะดำเนินการบริหารประเทศได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจบทบาทของตนเอง ปฏิบัติหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก นายชัย กล่าวทิ้งท้าย