ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

สงครามในยูเครนมีโอกาสจบลงด้วยการเจรจาภายในปีนี้ แต่สงครามในตะวันออกกลางกำลังดำเนินไปสู่ระยะสุกงอม และอาจยุติได้ด้วยการเจรจา  และจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ตามมติของสหประชาชาติ

แต่การเลือกตั้งที่ไต้หวันในวันที่ 13 มกราคมนี้ กำลังจะเป็นตัวกำหนดให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างสหรัฐฯและพันธมิตร กับ จีน หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง

ถ้าพรรคก๊กมินตั๋ง ได้รับชัยชนะจัดตั้งรัฐบาลก็อาจประกาศนโยบายและแผนการรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็คงจะมีชาวพื้นเมืองไต้หวันที่สนับสนุนพรรคการเมืองตรงข้ามออกมาประท้วงจะใหญ่จนขยายตัวเป็นจราจลขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน

แต่ถ้าพรรคพื้นเมืองของชาวไต้หวันที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ชนะการเลือกตั้ง และถ้าเกิดประกาศนโยบายจะเป็นอิสระจากจีน นั่นก็ย่อมได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากจีน โดยอาจนำไปสู่การใช้กำลังทหาร และจะเป็นชนวนสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯได้

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ เลวร้ายลง หลังจากที่ได้มีการพบปะกันระหว่าง สี จิ้นผิง และโจ ไบเดน เมื่อปลายปีที่แล้ว แทนที่จะมีความคลี่คลายตามที่หลายฝ่ายคาดหวังกลับปรากฏว่ามันกลับตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อ โจ ไบเดน ให้สัมภาษณ์สื่อโจมตี สี จิ้นผิง และระบอบการปกครองของจีน

ปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหม นายหลี่ ชางฟู ทั้งๆที่ได้รับการแต่งตั้งเพียงไม่กี่เดือน เพราะไม่อาจตอบสนองนโยบายของผู้นำสี จิ้นผิง ที่กำหนดให้เตรียมกองทัพให้พร้อมในการทำสงครามและสามารถเอาชนะสงครามได้

นอกจากลุงสีจะมองว่า หลี่ ชางฟู มิได้เตรียมกองทัพให้พร้อมในการทำสงครามและเอาชนะได้อย่างมั่นใจแล้ว ในช่วงดำรงตำแหน่งอันสั้น ยังเกิดการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญทางทหาร จากหน่วยงานที่เขาเคยกำกับดูแล คือ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ นั่นคือข้อมูลเกี่ยวกับกองกำลังขีปนาวุธนิวเคลียร์ จนเขาถูกสอบสวน แม้จะไม่พบความผิดก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้นำสี ไม่ไว้วางใจนัก

ส่วนรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ คือ พลเรือเอกดงจุน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ก็บ่งบอกโดยชัดเจนว่าจีนปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการรบ โดยเน้นกองกำลังทางทะเลที่จะขยายอิทธิพลในภูมิภาค และพร้อมจะต่อกรกับสหรัฐฯ โดยกองเรือที่ 7 อินโดแปซิฟิค และพันธมิตร โดยเฉพาะออสเตรเลียและญี่ปุ่น ด้านอวกาศและนิวเคลียร์จะกลายเป็นส่วนสนับสนุนและการป้องปราม

ในด้านการเมือง สี จิ้นผิง ได้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญหลายตำแหน่ง เพื่อขจัดบุคคลหรือบุคคลต้องสงสัยที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิบดี หู จินเทา อันถูก กล่าวหาว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯและยิวไซออนิสต์ เช่น ผู้อำนวยการธนาคารประชาชนจีน รัฐมนตรีคลัง วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สาธารณสุข หม่าเสี่ยวเหว่ย แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เคอะเฉียง หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว

แต่สิ่งที่ทำให้จีนมั่นใจในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการทหารมาสู่การยึดกองกำลังทางเรือเป็นหลัก ก็เพราะการฟื้นคืนชีพของกองกำลังทางเรือของรัสเซียที่นับวันจะโตวันโตคืน และประกอบกับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ด้วยการขยายกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของรัสเซีย อันมีฐานสำคัญอยู่ที่วลาดิวอสต๊อก เมืองท่าหลักในไซบีเรีย และฐานทัพเรือที่สะขะลิน เหนือทะเลญี่ปุ่น

มีผลทำให้ออสเตรเลียต้องทบทวนยุทธศาสตร์ทางเรือของตนใหม่ โดยแต่เดิมนั้นออสเตรเลีย หวังพึ่งกองเรืออินโดแปซิฟิก(กองเรือที่ 7) และโครงการ AUKUS นั่นคือโครงการถ่ายเทเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ที่ออสเตรเลียต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจัดสร้างกองเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ในช่วง 10 ปีต่อไปนี้

ออสเตรเลียต้องถึงกับผงะเมื่อพบว่ารัสเซียกับจีนมีการสนธิกำลังทางเรือกันและมีการฝึกซ้อมร่วมกัน บ่อยขึ้น อันถือเป็นสมุททานุภาพที่ยิ่งใหญ่ อันไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป

ตามรายงานประจำปีของเพนตากอนต่อสภาคองเกรสปรากฏว่า กองทัพเรือจีนได้รับการเสริมกำลังด้วยเรือรบใหม่ 30 ลำ ในช่วง 12 เดือน และในอีก 7 ปีข้างหน้า กองทัพเรือจีนจะมีจำนวนเรือเพิ่มขึ้นเป็น 435 ลำ

ในขณะที่รัสเซียได้รับการประเมินค่อนข้างต่ำ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แม้ในสงครามยูเครนกองเรือรัสเซียในทะเลดำก็ยังถูกประเมินว่าล้าสมัย อุ้ยอ้าย

ทว่าปูตินก็ได้ซุ่มสร้างเสริมกำลังในพื้นที่อื่นๆ เช่น กองเรืออาร์กติก และกองเรือในแปซิฟิก โดยที่มิได้มีการพัฒนากองเรือในทะเลดำมากนัก

ในปัจจุบันรัสเซียและจีนได้ร่วมกันพัฒนากองเรือแปซิฟิก โดยแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน โดยรัสเซียได้ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลในการพัฒนา/กองเรืออาร์กติกและกองเรือแปซิฟิก

โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมากองเรือแปซิฟิคของรัสเซียได้เดินทางเยี่ยมเยียนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่ออวดธงและโชว์แสนยานุภาพ

ทั้งนี้กองเรือเฉพาะกิจนี้ได้ทำการเยือน อินโดนีเซียฝึกซ้อมทางเรือกับเมียนมา เยือนอินเดีย และบังกลาเทศ ที่นับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และไทย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์

นั่นทำให้สหรัฐฯและพันธมิตร อย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต้องทบทวนกำลังของตนใหม่ รวมทั้งสหราชอาณาจักร ที่กำลังขาดแคลนงบปรับปรุงกองทัพ

ดังนั้นผลของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิคคงจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างมากจากที่เคยคาดคะเนกัน

ที่สำคัญประเทศไทยควรจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพเรือที่เน้นการส่งกำลังออกทะเลหลวง (Blue Navy) มาเป็นยุทธวิธีการป้องกันด้วยเรือเล็กหมัดโต คือ ขีปนาวุธและโดรน จะเหมาะหรือไม่ควรพิจารณากันอย่างจริงจังครับ