วันที่ 12 มกราคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ “โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ” ที่ศูนย์นันทนาการคลองเตย เขตคลองเตย

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า การออกหน่วยแพทย์เป็นนโยบายที่ดำเนินการทุกสัปดาห์ หลักการคือ การทำหน้าที่เป็นด้านหน้าระดับปฐมภูมิ ตรวจอาการป่วยของประชาชนในชุมชน เนื่องจากประชาชนอาจไม่สะดวกเดินทางไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข การนำหน่วยแพทย์มาบริการจะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนมากขึ้น มีบริการหลัก คือ การทำหมันสุนัข แมว โดยสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับภาคเอกชน มีเป้าหมายทำหมันและฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวปีละ 200,000 ตัว จากการเก็บข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนแมวจรจัดมากกว่าสุนัข สำนักอนามัยจึงมีโครงการ กรงคอนโดฯดักแมวจรจัด เพื่อนำไปทำหมันและฉีดวัคซีน ก่อนปล่อยกลับคืนชุมชน อยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์ และให้ทั้ง 50 เขต นำไปใช้ร่วมกับชุมชน

 

นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาแมวจรจัดมีมากกว่าสุนัข เนื่องจากแพร่พันธุ์เร็ว จับมาทำหมันยาก โครงการสุนัขชุมชน มีเป้าหมายควบคุมไม่ให้สัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวเพิ่มขึ้น โดยการทำหมันและฉีดวัคซีน ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าจาก 160,000 ตัวเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มเป็น200,000 ตัวในปี 2567 โดยปัจจุบันประชาชนสามารถนำสุนัขและแมวไปทำหมั่นได้ที่คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง หรือใช้บริการหน่วยแพทย์เชิงรุกตามชุมชน ซึ่งดำเนินการทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ ติดตามรายละเอียดการออกหน่วยบริการได้ที่ เฟซบุ๊ก กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และ เฟซบุ๊ก สำนักอนามัย

 

สำหรับแนวคิด โครงการสุนัขชุมชน เกิดจาก กทม.ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงสุนัขจรจัดในพื้นที่กว่าแสนตัว จึงต้องอาศัยการทำหมันและปล่อยกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ และป้องกันสุนัขตัวใหม่เข้ามาแทนที่ แต่หากสุนัขในชุมชนมีความดุร้าย เป็นอันตราย จะถูกจับออกจากพื้นที่

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน เพื่อให้ประชาชนรู้สถานะสุขภาพตนเอง โดยความร่วมมือระหว่างสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายตรวจสุขภาพประชาชนครบ 1 ล้านคน ในเดือนมิ.ย.2567 ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าตรวจสุขภาพเองได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง (ทุกวันพุธ) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (ทุกวันศุกร์) และโรงพยาบาลสังกัด กทม. โดยการตรวจหลัก ประกอบด้วย การคัดกรองโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือ กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ เพื่อส่งต่อการรักษาตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงต่อไป