นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.อยู่ระหว่างทบทวน ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมาย ข้อบัญญัติ ระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยให้ทุกหน่วยดำเนินการตรวจสอบระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ หากเห็นว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิก ให้ส่งความเห็นไปยังสำนักงานเลขานุการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (หน่วยงานระดับสำนักที่เป็นหน่วยงานหลักของกรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบในการดำเนินการหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย) เพื่อรวบรวมนำส่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกลุ่มภารกิจของกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจาก กทม.มีกฎหมาย ข้อบัญญัติ และระเบียบต่าง ๆ บังคับใช้จำนวนมากเป็นเวลานาน ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กฎหมายบางฉบับอาจไม่สอดคล้องและเอื้อต่อการปฏิบัติ ประกอบกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกฎหมาย ประกอบด้วย นโยบายดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ นโยบายปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคารให้ทันสมัย และนโยบายกิโยตินยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย

 

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ ยึดตามข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และสามารถข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

 

รวมถึง พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ระบุว่า หน่วยงานของรัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่การจัดทำร่างกฎตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วยโดยอนุโลม

 

ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า นอกจากให้หน่วยงานทบทวน ปรับแก้ หรือยกเลิกกฎหมาย ข้อบัญญัติ และระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้ว กทม.ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ด้านกฎหมายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.นายไกรสร บารมีอวยชัย ประธานคณะกรรมการ 2.นายชวการ ลิมป์ศิระ กรรมการ 3.นายธรรดร มลิทอง กรรมการ 4.นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ 5.นายสมพร หลงปาน กรรมการ และ 6.นายอนวัช สุวรรณเดช กรรมการ

 

โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.ผู้อำนวยการส่วนวิชาการกฎหมายและนิติกรรมสัญญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 2.นิติกรสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายและคดีมอบหมาย และ 3.เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย

 

โดยการแต่งตั้งดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และความเห็นทางกฎหมายแก่ผู้ว่าฯกทม. รองผู้ว่าฯกทม. หรือผู้บริหารกทม. ในการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร และ เชิญข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา เพื่อให้การบริหารราชการของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่งานราชการโดยส่วนรวม

 

นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า จุดประสงค์การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เน้นกำกับดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฤษฎีกา การมองภาพรวมของคดี ทั้งในแง่อัยการและผู้พิพากษา เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของ กทม.มีข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำงาน การตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานด้านกฎหมายมีความคล่องตัวขึ้น ลดปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง และคดีความต่าง ๆ