วันที่ 17 มกราคม 2567 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

 

ในที่ประชุม นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2

 

โดยอธิบายว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่คณะผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันจะเข้ามาทำงาน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.ส่วนสัมปทาน บริษัทบีทีเอสซี จำกัด เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด 2.ส่วนต่อขยายที่ 1 กทม.ดำเนินการในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (CIVIL) และระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ส่วนงานเดินรถและระบบซ่อมบำรุง (O&M) กทม.จ้างบริษัทเคที จำกัด(เคที) เป็นผู้ดูแล จากนั้นบริษัทเคที จำกัด จึงไปจ้าง บริษัทบีทีเอสซี จำกัด (บีทีเอส) เป็นผู้ดูแลต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่ง 2 ส่วนดังกล่าวยังไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน แต่ส่วนที่มีปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายคือส่วนที่ 3.ส่วนต่อขยายที่ 2 สืบเนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการเรื่องโครงสร้าง (CIVIL) ทั้งหมด โดยให้กทม.ดูแลเรื่อง E&M และ O&M ว่าด้วยงานเดินรถและระบบซ่อมบำรุง การจัดตั๋ว ระบบจ่ายไฟฟ้า ความปลอดภัย ระบบควบคุมและสั่งการ เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ กทม.ได้มอบหมายให้เคทีดำเนินการ จากนั้น เคทีจ้างให้บีทีเอสดำเนินการต่ออีกทอดแต่ส่วน O&M ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่นำมาพิจารณาในการประชุมวันนี้

 

ทั้งนี้ การว่าจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งส่วน E&M และ O&M เป็นไปตามเงื่อนไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ฉบับที่ 3/2562 ข้อ 2 ระบุว่า ให้กทม.จ้างผู้ประกอบการติดตั้งระบบไฟฟ้าและบริหารการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยมีเงื่อนไขการเจรจาตามคำสั่ง คสช. ดังนี้ 1.ระยะเวลาร่วมลงทุนขยายไปถึงปี 2602 2.เอกชนเป็นผู้รับภาระค่างาน O&M และ E&M ไปเป็นทุนของโครงการ 3.ส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม. 10% 15% 25% ตามระยะเวลา เพื่อนำไปจ่ายค่างาน CIVIL

 

ปัญหาหลักจึงอยู่ในส่วน E&M ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งบีทีเอสได้ดำเนินการตามที่ได้รับว่าจ้างจากเคทีแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 ว่าด้วยการติดตั้งระบบ E&M ตามจำนวนเงินกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ซึ่งครบกำหนดชำระวันที่ 9 เม.ย.2567 และจะมีดอกเบี้ยเพิ่มเฉลี่ยวันละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันมีดอกเบี้ยแล้วกว่า 4 พันล้านบาท

 

ซึ่งจากการเสนอแนวทางตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ถามมา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 กทม.ตอบไปว่า 1.ขอให้รัฐสนับสนุนค่าโครงสร้างและ E&M 2.ดำเนินการตาม พรบ.ร่วมทุน 2562 3.หาข้อยุติกรณีหยุดจ่ายค่าเดินรถ โดยวันที่4 ธ.ค.2566 มท.ได้ตอบกลับมาว่า ให้ กทม.พิจารณาเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่ กทม.รับผิดชอบ โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่ง กทม.เห็นว่างาน E&M มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง กทม.จึงควรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพราะมีประชาชนใช้บริการส่วนนี้กว่าวันละ 1.5 ล้านเที่ยว และปัจจุบันงานE&M ได้มีการติดตั้งแล้วเสร็จ โดย บริษัทเคที จำกัด ได้แจ้งกรอบวงเงินจำนวน 23,488,692,165.65 บาท

 

ประกอบกับ คณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 จากสภากทม. ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566 ได้ศึกษาและมีความเห็นว่างาน E&M สามารถแยกออกมาดำเนินการได้ ดังนั้น กทม. จึงมีแนวทางในการรับมอบงาน E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ดังนี้ 1.กทม.เสนอต่อสภากทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการรับมอบงาน E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยมีกรอบวงเงินรวม 23,488,692,165.65 บาท 2.หากได้รับความเห็นชอบจากสภากทม.แล้ว กทม.จะเสนอ มท. และ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ กทม. ชำระค่างาน E&M เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ยังไม่ได้ข้อยุติ 3.หาก ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว กทม. จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมโดยจ่ายขาดจากเงินสะสมและเสนอต่อสภา กทม.เพื่อพิจารณาต่อไป

 

ทั้งนี้ ส.ก.ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ผู้ว่าฯกทม. เสนอ ขอความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ(ไฟฟ้าและเครื่องกล) เพราะมีความกังวลว่าหากกทม.ไม่ชำระค่า E&M ตามกำหนด จะทำให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งเร่งรัดให้ฝ่ายบริหาร ดำเนินการเสนองบประมาณจ่ายขาดจากเงินสะสม เพื่อลดดอกเบี้ย ในวันที่ 24 ม.ค.นี้หากล่าช้าจะทำให้กทม.ได้รับความเสียหาย

 

โดยในที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบ ในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) 44 คน จากนี้สำนักงานเลขานุการสภากทม. จะเสนอฝ่ายบริหาร ดำเนินการต่อไป

 

นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภากทม. ว่า จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อขอจัดสรรงบประมาณจ่ายขาดจากเงินสะสม ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 วันที่ 24 ม.ค. นี้ ซึ่งปัจจุบันกทม.มีเงินสะสมจ่ายขาดอยู่ 6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ปลอดหนี้ 51,200 ล้านบาท ขณะเดียวกันกทม.จะรายงานความคืบหน้าให้มท. รับทราบควบคู่ไปด้วย ก่อนจะส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ กทม.ชำระค่างาน E&M