นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเผยว่า สาเหตุที่สภากรุงเทพมหานครเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 หรือเห็นด้วยให้ กทม.จ่ายหนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในส่วนค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณในการเดินรถ (E&M) จำนวน 23,488,692,165.65 บาท เนื่องจากคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ศึกษาสัญญาและรายละเอียดต่าง ๆ พบว่า โครงการนี้ กทม.มีภาระค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ ค่าโครงสร้างพื้นฐาน ค่าจ้างเดินรถและระบบซ่อมบำรุง (O&M) ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) แต่ในสัญญาข้อ 6.2 ที่บริษัทเคที จำกัด(เคที) ทำไว้กับบีทีเอสซี ระบุว่า ส่วน E&M สามารถแยกชำระจากส่วนอื่น ๆ ก่อนได้ ประกอบกับ ค่าจ้างบีทีเอสซีติดตั้งระบบ E&M เลยกำหนดชำระตามสัญญาแล้ว และส่วน E&M นี้ เป็นทรัพย์สินที่มีการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว มีราคาคงที่แน่นอน และเป็นหัวใจสำคัญในการเดินรถ ดังนั้น หากไม่ชำระส่วนนี้ก่อน อาจมีการหยุดให้บริการเดินรถ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและ กทม.เสียชื่อเสียง ขาดความน่าเชื่อถือ

 

นอกจากนี้ จากการเลยกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาตั้งแต่ปี 2566 ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยประมาณ 5% ในส่วน E&M จากเงินต้นประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.3 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน หรือมีอัตราดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านบาทรวมเฉพาะดอกเบี้ยที่ กทม.ต้องจ่ายในส่วนนี้ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งหาก กทม.ไม่ดำเนินการส่วนนี้ บีทีเอสซีอาจฟ้องร้องเพิ่มเติม จึงเป็นที่มาในการเห็นชอบจากสภากทม.ในการรับชำระหนี้ส่วน E&M

 

นายนภาพล กล่าวว่า ขั้นตอนก่อนที่กทม.จะชำระหนี้ ต้องหารือกับ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เคที กทม.และบีทีเอสซี เพื่อทำบันทึกข้อตกลงว่าการชำระหนี้ส่วน E&M ไม่มีข้อผูกพันกับส่วนโครงสร้างและส่วน O&M ตามสัญญาฉบับเดิมเนื่องจาก ปัจจุบันกทม.ถูกฟ้องร้องในการไม่ชำระหนี้ส่วน O&M ตามกำหนด อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยกทม.ให้เหตุผลในการต่อสู้ในชั้นศาลว่า สัญญาฉบับเดิม เกิดจากหนังสือมอบหมายที่ผู้ว่าฯกทม.ในอดีต มอบให้เคทีดำเนินการ จึงตั้งข้อสงสัยว่าหนังสือมอบหมายดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ทุกเรื่องหรือไม่หรือเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการมอบหมายที่ไม่มีกำหนดขอบเขตอำนาจและเวลา รวมถึงเป็นการมอบหมายโดยไม่ผ่านการทำข้อตกลงร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กทม. เคที บีทีเอสซี

 

ดังนั้น ในการชำระหนี้ส่วน E&M ครั้งนี้ กทม.จึงต้องทำบันทึกข้อตกลง 3 ฝ่ายก่อน เพื่อตกลงว่า กทม.ยินดีชำระส่วนนี้แต่ไม่มีข้อผูกพันกับส่วนอื่น ๆ ตามสัญญาเดิม และไม่ได้หมายความว่า การชำระหนี้ส่วนนี้เป็นการจำยอมหรือสละสิทธิ์ในการต่อสู้ส่วน O&M ซึ่งกำลังพิจารณาในศาลปกครองสูงสุด โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ สอบถามไปยังสำนักการคลัง และสำนักงบประมาณ พบว่า เงินสะสมของกทม.มีประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาชำระหนี้ส่วน E&M จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้กทม.ยังเหลือเงินสะสมตามกฎหมายกำหนด ซึ่งระบุว่า ต้องเหลืออย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ดังนั้น การนำเงินส่วนนี้มาชำระหนี้จึงไม่กระทบต่อการบริหารจัดการของกทม.

 

ส่วนขั้นตอนต่อไป ฝ่ายบริหาร กทม.ต้องยื่นข้อบัญญัติเกี่ยวกับเงินสะสมจ่ายขาดต่อสภากทม.เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ส่วนนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านบาท จากการเจรจาเบื้องต้นกับบีทีเอสซี จะมีการหยุดดอกเบี้ยดังกล่าว หากกทม.ชำระภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยแผนที่ กทม.วางไว้คือ หากผู้ว่าฯกทม.ยื่นข้อบัญญัติเกี่ยวกับเงินสะสมจ่ายขาดต่อสภากทม.ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณโครงการนี้ จากนั้นจะมีการเจรจาต่อรองกับบีทีเอสซีเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อลดภาระหนี้เท่าที่เป็นไปได้

 

“หนี้จำนวน 23,488,692,165.65 บาท ตามระบุ อาจยังไม่ใช่ตัวเลขที่แน่นอน ต้องผ่านการเจรจาอีก 2-3 ครั้ง คาดว่าจะสามารถผ่านการพิจารณาจากสภากทม.แล้วเสร็จพร้อมปลดหนี้ไม่เกินกลางเดือน ก.พ.โดยไม่ต้องรอความเห็นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะ มท.ได้ให้ความเห็นตอบกลับมาชัดเจนแล้ว ว่าให้กทม.ชำระส่วนที่ทำได้ ส่วนใดชำระไม่ได้ให้ทำหนังสือชี้แจงกลับไปอีกครั้ง แต่หากผู้ว่าฯกทม.ต้องการผ่านความเห็นชอบจากครม.ก็เป็นสิทธิ์ของฝ่ายบริหารทำได้เพื่อความอุ่นใจ เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดจากคำสั่ง คสช.ซึ่งกำหนดให้กทม.ดำเนินการต่าง ๆ” ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กล่าว