นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางพัฒนาด้านกฎหมายของ กทม.ว่า ปัจจุบัน กทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกลุ่มภารกิจกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาสังคม และการคลัง 2.ด้านสาธารณูปโภค และงบประมาณ 3.ด้านยุทธศาสตร์ การศึกษา และการบริหารงานบุคคล 4.ด้านสาธารณสุข 5.ด้านการจราจรและขนส่ง การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดระเบียบเมือง การปกครองและการรักษาความสงบเรียบร้อย และ 6.ด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โดยให้รองปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจของกรุงเทพมหานครในแต่ละด้าน และเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของแต่ละกลุ่มภารกิจ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 

1.รองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ 2.ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เป็นกรรมการ 3.หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ 4.ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย เป็นกรรมการ 5.ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ 6.ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายของกลุ่มภารกิจ จำนวนไม่เกินห้าคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ 7.หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ 8.นิติกรกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร จำนวนไม่เกินสองคน ที่หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนากฎหมายมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยกำหนดให้คณะกรรมการฯดังกล่าว มีหน้าที่ดังนี้

 

1.พิจารณาร่างกฎหมาย ร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ร่างข้อบังคับกรุงเทพมหานคร และร่างระเบียบกรุงเทพมหานคร ของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่อยู่ในกลุ่มการกิจของประธานกรรมการ และที่ปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย 2.พิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ หรือให้คำปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่อยู่ในกลุ่มภารกิจของประธานกรรมการตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย

 

3.เชิญข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือบุคลากรกรุงเทพมหานครมาให้ความเห็น รวมทั้งให้มีอำนาจเรียกเอกสารจากหน่วยงาน ส่วนราชการ หรือการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 4.แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยหลือหรือทำหน้าที่ใด ๆ ตามความเหมาะสมหรือจำเป็น 5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือปลัดกรุงเทพมหานครมอบหมาย

 

นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ด้านกฎหมาย เพื่อดูแลปัญหาด้านกฎหมาย เนื่องจาก สำนักงานกฎหมายและคดี เป็นสำนักเล็ก ๆ อยู่ภายใต้การกำกับสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร (สนป.) มีมุมมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการ แต่โลกปัจจุบันเปลี่ยนไป จึงอยากได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึง คณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าว ไม่มีอำนาจลงนาม เพียงแต่ให้คำแนะนำเท่านั้น

 

”เบื้องต้นจะให้ช่วยพิจารณาเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา กทม.ถูกฟ้องร้องมาตลอดเพราะไม่มีกฎหมายที่เข้มข้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ กฎหมายกทม.มีเพียงความรู้เฉพาะด้านระเบียบราชการ เมื่อกทม.ไปทำสัญญากับเอกชน อาจไม่มีความรู้และประสบการณ์ในสัญญา จึงกลัวว่าจะพลาดพลั้ง ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานี้จะช่วยแก้ปัญหาด้านกฎหมาย“ นายชัชชาติ กล่าว

 

สำหรับข้อมูลสำนักงานกฎหมายและคดี ได้สรุปข้อมูลคดี (คดีแพ่งและอาญา) ตั้งแต่ปี 2563-2566 รวมทั้งสิ้น 245 คดี แบ่งเป็น กทม.เป็นโจทก์ มี 76  คดี แบ่งเป็นประเภทคดี สัญญาเช่า 27 คดี ละเมิด 40 คดี ที่ดิน 2 คดี เรียกเงินคืน 7 คดี ซึ่งกทม. ชนะ 43 คดี แพ้ 1 คดี ถอนฟ้อง 21 คดี อยู่ระหว่างพิจารณา 11 คดี

 

ส่วนคดีที่กทม.เป็นจำเลย มี 169 คดี แบ่งเป็นประเภทคดี สัญญาเช่า 16 คดี ละเมิด 131 คดี ที่ดิน 17 คดี อาญาทุจริต 4 คดี นิติกรรม 1 คดี ซึ่งกทม. ชนะ 15 คดี แพ้ 53 คดี ถอนฟ้อง 56 คดี อยู่ระหว่างพิจารณา 45 คดี รวมทั้งประเภทที่กทม.เป็นโจทก์และจำเลย ชนะ 58 คดี แพ้ 54 คดี ถอนฟ้อง 77 คดี อยู่ระหว่างพิจารณา 56 คดี  พี่