นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวความคืบหน้าแนวทางการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในท้องที่เขตกรุงเทพฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ.2562 ว่า กระบวนการจัดทำเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ตามขั้นตอน พ.ร.บ.การผังเมือง ปีพ.ศ.2518 ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผังเมืองเป็น พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 กทม.ได้ปรับปรุงร่างผังเมืองรวมที่ได้จัดทำไว้ ได้แก่ แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังแสดงโครงการสาธารณูปโภค รวมถึงได้จัดทำแผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้น

 

 

โดย สวพ.ให้ความสำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในขั้นตอนก่อนมีร่างผังเมืองรวม ด้วยการประชุมร่วมกับกลุ่มจังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มากกว่า 50 ครั้ง

 

หลังจากนั้น กทม.ได้เสนอร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความเห็นและนำมาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ

 

จากนั้นได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง และ จัดประชุมใหญ่ ที่ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีความทั่วถึงและครอบคลุมกลุ่มประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 7,000 คน ในจำนวนนี้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน รวมทั้งสิ้น 1,312 คน แบ่งเป็นยื่นในวันประชุม 968 คน ยื่นผ่านเว็บไซต์ 202 คน และยื่นกับสวพ. 142 คน

 

“เพื่อให้การดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ กทม.ได้ขยายระยะเวลาการแสดงความคิดเห็นถึงวันที่ 29 ก.พ.67 เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นของประชาชนนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ต่อไป” นายไทวุฒิ กล่าว