วันที่ 24 มกราคม 2567 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่แรก ครั้งที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

 

นายชัชชาติ ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ...

 

โดยนายชัชชาติ ได้รายงานสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว และเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 จำนวน 51,804.22 ล้านบาท 

 

“ด้วยกทม.ต้องรับมอบทรัพย์สินระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 และชำระค่างานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ตามโครงการดังกล่าว จึงเสนอสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 23,488,692,200 บาท” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้ที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ... จำนวน 23 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 3 วันทำการ และกฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้รับร่างข้อบัญญัติเป็นครั้งแรก หรือ วันที่ 8 มี.ค.นี้

 

นายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้นำเรื่องผ่านเข้าสภากทม. เพื่อเตรียมจัดตั้งงบประมาณ โดยสภากทม.ได้จัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งคงจะเร่งรัดให้พิจารณาได้เร็วตามกฎหมายใน 45 วัน แต่คาดว่าจะเร็วกว่านั้น แล้วนำเข้าสภาในวาระสอง วาระสาม จากนั้นจะออกข้อบัญญัติฯต่อไป ทั้งนี้ กทม.จะต้องหารือเคที และเอกชนเพื่อสรุปตัวเลขความรับผิดชอบต่าง ๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ส่วนจะจ่ายหนี้เป็นก้อนรวมทั้งหมดหรือแบ่งจ่าย ต้องดูรายละเอียดก่อน ว่าเงินของกทม.จะเบิกจ่ายได้อย่างไร ซึ่งทางสำนักการคลังจะเป็นผู้จัดการ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาสามารถจ่ายหนี้ก้อนนี้ได้ทันงวดเดือนเมษายนนี้ แต่ต้องรอให้ผ่านสภาในวาระสองและสามก่อนก็น่าจะพร้อมดำเนินการขั้นต่อไป

 

”ส่วนกรณีบัญชีเงินสะสมกรุงเทพมหานครคงเหลือ จำนวน 78,071 ล้านบาท ในจำนวนนี้ปลอดหนี้อยู่จำนวนกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ยังต้องสำรองไว้สำหรับรายจ่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะค่าจ้างเดินรถ (O&M) ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท“ นายชัชชาติ กล่าว