สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่าย เปิดงาน Kick off ขยายผล โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลกลาง เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ค้นหา-พิสูจน์-ยืนยันตัวตน พัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะพื้นที่กรุงเทพฯ โซนกลางและตะวันออก เข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการภาครัฐ ปัจจุบัน มีกลุ่มประชากรคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนกว่า 520,000 คน ตั้งแต่ปี 2556 สสส. ภาคีเครือข่ายร่วมทำงานพิสูจน์สิทธิ และการเข้าถึงบริการสุขภาพในกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคลอย่างต่อเนื่อง พัฒนารูปแบบแนวทางเข้าถึงสุขภาพ และผลักดันให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ด้วยกระบวนการ 7 ขั้นตอน ของ “คนไทย ต้อง ไม่ไร้สิทธิ” ที่กระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียน ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ และงบประมาณ เช่น งบรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี งบล้างไต ยากำพร้าหรือยาที่มีความจำเป็นต้องใช้บรรเทา บำบัด ป้องกัน รักษาโรคที่พบได้น้อย โรคอันตรายร้ายแรง ใช้ระบบเดียวกับ สปสช. ปัจจุบัน สสส. ภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดันการทำงาน แก้ไขนโยบายผ่าน คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ เกิดความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงาน ทำงานใน 12 จังหวัด ทำให้มีกลุ่มคนไทยไร้สิทธิและกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 2,570 คน เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ และเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสุขภาพที่เหมาะสม

“สสส. ประสานความร่วมมือในการพัฒนาต้นแบบ กลไกการทำงาน และเสริมศักยภาพองค์กรภาคีต่าง ๆ สร้างรูปธรรมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ และนโยบาย จากการนำร่อง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ในปี 2564 สู่ 12 จังหวัด 20 โรงพยาบาล เสริมกระบวนการค้นหา ประสาน ส่งต่อ ติดตามสิทธิ เพื่อร่นระยะเวลาพิสูจน์สิทธิให้เร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลาเป็นสิบปี เหลือเพียง 4-12 เดือน เป้าหมายต่อไป คือ การขยายหน่วยเก็บ DNA ให้ครบ 13 เขต สปสช. ปัจจุบันเปิดได้ 9 เขต คาดการณ์ว่าจะครบในปี 2570 ที่ผ่านมาการทำงานกับภาคีเครือข่าย ได้ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาคนไทยตกหล่นจากสิทธิสถานะทางทะเบียน ทำให้การขยายผลหน่วยเก็บ DNA เป็นส่วนสำคัญที่ร่วมแก้ไขปัญหาให้มีความครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือการดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุม และทั่วถึงรวมถึงคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ สปสช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการที่ยึดมั่นคือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ สปสช. ที่ได้ร่วมกับทาง กทม. สสส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่าย  สำหรับคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะนี้ กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน และคนไร้สิทธิ ซึ่งเป็นคนไทยตกหล่นด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ได้แจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย ทำให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยความร่วมมือที่ต่อเนื่องในวันนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเปราะบางพื้นที่กรุงเทพฯ ได้พิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย และได้รับสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ รวมถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาท ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนรวมประชากรแฝง มีความหลากหลายของประชากรในพื้นที่ รวมถึงปัญหาที่ซับซ้อนแตกต่างกัน ในด้านสุขภาพแม้ว่าจะมีบริการทางการแพทย์ มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังพบว่าคนไทยส่วนหนึ่งมีปัญหาสิทธิสถานะทางทะเบียน เข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ที่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน การ Kick off 3 รพ. เป็นหน่วยเก็บ DNA ครั้งนี้ เป็นการขยายต่อจากส่วนโซนธนบุรี โดย รพ.ราชพิพัฒน์ เมื่อ ต.ค. 2566 ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้กระบวนการพิสูจน์ตัวตนมีความสะดวก รวดเร็วขึ้น ประชาชนไม่ต้องกลับไปดำเนินการที่ภูมิลำเนาเดิม จากเดิมที่มีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ รพ.รามาธิบดี ได้เพิ่มบริการในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการรัฐอย่างเท่าเทียม

ขณะที่ พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมภายใต้ โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะ และประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายการตรวจพิสูจน์ในทุกประเภทการตรวจ และพัฒนาระบบโรงพยาบาลเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงรุก โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาสังคม ปัจจุบันมีเครือข่ายโรงพยาบาล 17 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ได้มีเพิ่มขึ้นในวันนี้อีก 3 แห่ง รวม 20 แห่ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะคงดำเนินการพัฒนาโรงพยาบาลเครือข่าย และมุ่งพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่องต่อไป