นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนโยบายกำหนดให้มีการประชุม Lunch Meeting ร่วมกับ ผอ.เขต ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทุกวันอังคาร ระหว่างเวลา 12.30-13.30 น. เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และเพื่อแจ้งข้อราชการ ข้อสั่งการต่าง ๆ จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่น ขอความร่วมมือสำนักงานเขต 50 เขต จัดการปัญหาเรื่องรถเก็บขยะ จุดการค้า Hawker Center การแก้ไขปัญหาผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ การเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 การบริหารจัดการในน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตรวจสอบป้ายผิดกฎหมาย และข้อราชการอื่น ๆ

 

จากการประชุมติดตาม พบว่า จำนวนการแก้ปัญหาและผู้แจ้งเรื่องผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ยังคงที่ ไม่มากเหมือนที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งคือ บางเขตได้รับการร้องเรียนเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก เนื่องจากผู้ร้องไม่ทราบว่าบางเรื่องอาจต้องรอมาตรการทางกฎหมายจึงสามารถแก้ไขได้ ทำให้ผู้ร้องเข้าใจว่าเรื่องที่แจ้งไปไม่ได้รับการแก้ไข จึงแจ้งเรื่องซ้ำ

 

สำหรับข้อมูจาก https://share.traffy.in.th/teamchadchart วันที่ 25 ม.ค.67 ระบุ มีผู้แจ้งเรื่องผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ทั้งหมด 496,310 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 379,023 เรื่อง กำลังดำเนินการ 9,673 เรื่อง รอรับเรื่อง 1,649 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 95,640 เรื่อง

 

นางวันทนีย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.ยังเน้นนโยบายเดินได้เดินดี ให้แต่ละสำนักงานเขตดูแลความเรียบร้อยทางเท้า ให้ประชาชนเดินสะดวก ปลอดภัย หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการ รวมถึงเรื่องการติดตั้งป้ายผิดกฎหมายในแต่ละพื้นที่ ได้กำชับให้มีการตรวจสอบการเสียภาษี และให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการ เนื่องจากอาจกีดขวางทางสัญจร และอาจเข้าข่ายการทุจริตในการอนุญาตให้ติดตั้งป้ายดังกล่าว ซึ่งแต่ละเขตจะปฏิเสธว่าไม่ทราบไม่ได้

 

ส่วนเป้าหมายการทำงานในปี 2567 ของแต่ละเขต ปัจจุบันมีเพิ่มเติมจาก 22 ข้อ โดยเป้าหมายดังกล่าวมาจากประเด็นพัฒนา 28 กลุ่มในปี 2566 โดยผู้ว่าฯกทม.เลือกมาเป็นเป้าหมายหลัก 22 ข้อ เพื่อกำหนดทิศทางในการปฏิบัติงานของแต่ละเขต ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ปัจจุบันมีการปรับให้นำด้านสร้างสรรค์ดีไปแทรกไว้ในเป้าหมายทุกข้อ และเพิ่มเรื่องความปลอดภัยของเทศกิจ นอกเหนือจากความปลอดภัยด้านทางเท้าดีและทางเดินดี โดยผู้บริหาร กทม.ทำหน้าที่สนับสนุนและกำกับติดตามผู้ปฏิบัติงาน เพื่อนำมาประเมินบุคลากรภายใต้หลักการคือ

 

1.ดำเนินเป้าหมายที่กำหนดอย่างชัดเจน 2.แนวทางการปฏิบัติขึ้นอยู่กับบุคลากรแต่ละคน ตามความพร้อม บริบท และต้องรายงานความคืบหน้าต่อเนื่อง 3.มีกรรมการตรวจสอบ ติดตามผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.ได้ออกแบบระบบ BMA DIGITAL PLANS หรือระบบบริหารจัดการแผนพัฒนา กทม. เพื่อบันทึกข้อมูลโครงการ/กิจกรรมและตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ซึ่งผู้บริหารสามารถติดตามผลการทำงานได้บนโทรศัพท์มือถือ รวมถึงมีการประชุมติดตามทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานระดับสำนักคอยช่วยเหลือสนับสนุนปัญหาต่าง ๆ ที่แต่ละเขตพบ เนื่องจากเป้าหมายดังกล่าว มีที่มาจากระดับสำนัก ส่วนผู้ปฏิบัติคือแต่ละเขต จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อน โดยสำนักต้องช่วยเหลือเขตเมื่อเกิดปัญหา

 

“การประชุม Lunch Meeting เป็นการสื่อสารและแจ้งนโยบายกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ผ่านตัวแทน โดยใช้เทคโนโลยี ลดการเดินทาง หากมีปัญหาอะไรให้บอกกันตรง ๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขและให้กำลังใจกัน ทำให้แต่ละเขตเข้าใจตรงกัน และดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน“ ปลัด กทม.กล่าว

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมดังกล่าว มีการรายงานการแก้ไขปัญหาผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ โดยเฉพาะเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ซึ่งเขตหนองจอก ถูกระบุเป็นเขตที่มีเรื่องร้องเรียนและยังไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องนี้มากที่สุด ทำให้ปลัดกทม.กำชับให้เขตเร่งแก้ปัญหา ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขต ยืนยันว่า พื้นที่เขตไม่มีการร้องเรียนเรื่องป้ายผิดกฎหมาย ที่ผ่านมา จากการติดตามตรวจสอบผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์อย่างใกล้ชิด ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่หนองจอกร้องเรียนเรื่องถนนชำรุด ซึ่งมีความพยายามแก้ไขมาโดยตลอด

 

ดังนั้น สำนักงานเขตจึงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ระบบหลังบ้านทราฟฟี่ ฟองดูว์ล่ม ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องร้องเรียนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่เรื่องดังกล่าวกลับเงียบไป โดยไม่มีการชี้แจงว่า สาเหตุเกิดจากระบบหลังบ้านของทราฟฟี่ ฟองดูว์ มีปัญหา

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หลายเขตเป็นกังวล เพราะผู้บริหารได้ประกาศใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ เป็นตัวชี้วัดประเมินผลการทำงาน หากระบบเกิดปัญหาและไม่มีการตรวจสอบและแจ้งสาเหตุที่แท้จริง อาจทำให้การประเมินผลการทำงานไม่เป็นธรรม