เมื่อเวลา 11.05 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี ในประเด็นนโยบายการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา และการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานที่ กรณีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย อีกทั้งในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และอุเทนถวาย ยังสังกัดกรมอาชีวศึกษา ยังสอนแค่ระดับ ปวช. และ ปวส. และตนเองมีส่วนสนับสนุน 2 สถาบันนี้มาตลอด ในครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้แก้กฎหมายให้ทั้ง 2 สถาบัน สอนถึงระดับปริญญา อีกทั้งภาคภูมิใจว่าเป็นสถาบันหลักของชาติเช่นกัน ที่สร้างช่างที่มีความเชี่ยวชาญ มีส่วนสำคัญในการช่วยบ้านเมือง ต้องชื่นชมยกย่อง เราต้องไม่ทำให้ปัญหาที่เกิดจากคนเพียงไม่กี่คน ทำลายภาพพจน์ชื่อเสียงของสถาบันเหล่านี้

ส่วนกรณี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการงดรับนักศึกษาปีที่ 1 เพื่อลดจำนวนนักศึกษาลงผ่านตามสื่อต่างๆ นายชวน มองว่าจะเป็นการสูญเสีย และในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีคำสั่งให้งดรับนักศึกษา อย่างมากคือส่งไปเรียนที่อื่น ซึ่งการให้สัมภาษณ์ทำให้เกิดความสับสน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้รับนักศึกษาปีที่ 1 ได้ แต่ต้องส่งไปเรียนในวิทยาเขตอื่น จึงอยากถามว่า นักศึกษาชั้นปีอื่นๆ จะต้องไปเรียนที่ไหน และประเด็นคำถามต่อมาคือ การย้ายอุเทนถวายไปที่อื่น ได้เตรียมพื้นที่และงบประมาณไว้แล้วหรือไม่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกขึ้นตอบกระทู้สดด้วยวาจา ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา รัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญน้อย เพราะในฐานะที่เป็นพ่อ ตนเองก็เห็นปัญหาการตีกัน ทราบความรู้สึกของบิดามารดา หรือญาติพี่น้องที่เป็นเหยื่อของผู้ประสบเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ และรัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อไปในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ตระหนักดีว่าทั้ง 2 สถาบันนี้มีเกียรติและมีอายุมายาวนาน ผลิตบัณฑิตที่ตรงกับสายงานที่มีความต้องการตลาดแรงงานมาหลายสิบปีได้หลายแสนคน จึงอยากจะขอสนับสนุนหลักการของ นายชวน ที่ว่าเป็นสถาบันนี้ให้ประโยชน์กับประเทศชาติอย่างเหลือล้น

พร้อมกล่าวถึงช่วงที่ไปหานักลงทุนจากต่างประเทศว่า เรื่องของการผลิตช่าง หรือ วิศวกร เป็นเรื่องที่ประเทศเรามีความต้องการอย่างมาก การมีการลงทุนข้ามชาติ ถ้าไม่มี 2 สถาบันนี้ บัณฑิตของเราก็จะไม่ตรงกับสายงานที่มีความต้องการกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ ที่อยากจะมาลงทุน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ และจะเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน 2 สถาบันนี้จึงถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลยังยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เรื้อรังมานานมากแล้ว ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากปัญหาที่มีระยะทางที่ใกล้กันระหว่าง 2 สถาบัน เราเองก็พยายามที่จะย้ายวิทยาเขตนี้ โดยทาง รมว.อว. ก็มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยที่ดูแลทางด้านกรมธนารักษ์ ว่าให้ไปจัดหาพื้นที่ที่จะมีการย้ายออกไป ส่วนเรื่องของการตีกัน ทาง รมว.อว. ได้ออกประกาศกระทรวงไปแล้วว่าจะเก็บข้อมูลนักศึกษา เพื่อใช้ในการติดตามในกรณีที่มีการทะเลาะวิวาทในอนาคต ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ และเฝ้าระวังระงับเหตุร้ายในสถาบัน และตนได้กำชับไปยังฝ่ายความมั่นคง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีความใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษานี้ ว่าให้ดูแลเป็นพิเศษ เพิ่มกำลังเป็นพิเศษในวันที่เราเข้าใจว่าจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน

"มาตรการเหล่านี้ เป็นหนึ่งในมาตราการที่ช่วยเหลือหรือป้องกันเท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ที่วัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ความเชื่อของนักศึกษาที่มีสืบทอดกันมาเป็นค่านิยม ยืนยันนะครับ เป็นค่านิยมที่ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราต้องตัดปัญหาโดยการย้ายสถานที่ไปยังที่อื่น จะลดการกระทบกระทั่งระหว่างนักศึกษาของ 2 สถาบันนี้ และปรับลดค่านิยม ลดการกระทบกระทั่งระหว่างรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำ ตัดวงจรการสืบทอดวัฒนธรรมที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง และจะกำชับกระทรวง อว. ให้ทำงานต่อไป ส่วนเรื่องปัญหาการสื่อสารเรื่องหยุดรับนักศึกษาปี 1 ท่านรัฐมนตรีจะอธิบายให้ฟังว่าคงมีการคลาดเคลื่อนในเรื่องของการสื่อสาร ท่านไม่ได้บอกว่าจะหยุดรับ เพียงแต่จะให้ย้ายไปอยู่วิทยาเขตอื่น โดยขอให้ รมว.อว. ชี้แจง"
ทางด้าน นางสาวศุภมาส ชี้แจงโดยเริ่มตั้งแต่อดีตว่า อุเทนถวาย เช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2478 และสิ้นสุดสัญญาเช่าเมื่อปี 2546 ซึ่งจุฬาฯ แจ้งไม่ต่อสัญญาในปี 2547 และมีการทำบันทึกข้อตกลงในการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนในปี 2548 ซึ่งทางอุเทนถวายได้ขอต่อสัญญาเช่าอีก 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 - กันยายน 2549 จากนั้นจุฬาฯ มีหนังสือแจ้งให้อุเทนถวายกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่คืนและชำระค่าใช้ประโยชน์ กระทั่งปี 2550 จุฬาฯ มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท และคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี (กยพ.) มีมติเมื่อปี 2552 ตัดสินชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป

อีก 7 ปีต่อมา เดือนกันยายน 2556 อุเทนถวายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติชี้ขาดของ กยพ. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ในปี 2559 โดยเห็นว่ามติของ กยพ. เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอุเทนถวายยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด ในท้ายที่สุดเมื่อปลายปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

นางสาวศุภมาส กล่าวต่อไปในเรื่องการงดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ข้อเท็จจริงคือ มีการรับแต่ให้ปรับแผนการสอบให้เข้ากับแผนการย้าย โดยปรับให้รับในวิทยาเขตอื่นๆ แทน โดยตอนนี้ก็มีการปรับแผน และจะเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทาง อว. มีการติดตามและกำชับให้ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด สำหรับการจัดหาสถานที่ให้นักศึกษาปีอื่นๆ อว. มีการจัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนวางแผนการจัดหาพื้นที่รองรับ เบื้องต้นมี 4 พื้นที่ คือ วิทยาเขตบางพระ, วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, พื้นที่บริจาคที่มีนบุรี 24 ไร่ และพื้นที่ราชพัสดุ สมุทรปราการ ที่กรมธนารักษ์จัดหา และช่วยจุฬาฯ พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือค่าขนย้าย

จากนั้น นายชวน ตั้งคำถามต่อไปว่า เมื่อสถานที่ใหม่ยังไม่ชัดเจน จะยังให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ยังคงเรียนที่เดิมได้หรือไม่ และนโยบายของกระทรวง อว. ให้ที่ จะเป็นการตัดโอกาสอย่าให้เกิดการขึ้น เช่น การไม่ให้รับนักศึกษา และไม่ว่าใครให้ห้องนี้ก็มีโอกาสเพราะการศึกษา เราต้องช่วยกันส่งเสริมการศึกษา ตนให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเราก็ลูกชาวบ้าน มีโอกาสมานั่งที่นี่เพราะเราได้เรียนหนังสือ จึงได้คิดโครงการให้คนได้เรียน ไม่ต้องอยู่วัดเหมือนตนสมัยเด็ก

ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ และต้องช่วยดูเรื่องสถานที่ที่จะย้ายไปด้วยตัวเอง เหมือนที่สภาฯ นี้เคยขอที่ทำบ้านพักให้ข้าราชการสภาฯ ระดับปฏิบัติการ หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย ขอเท่าไรก็ยาก ที่ขอสภาฯ กระทรวงมหาดไทยก็เอาไป จึงต้องไปขอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโดยตรง จึงได้พื้นที่มา 9 ไร่ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีดูเรื่องนี้ หาที่ให้สถาบันเขา เพราะสถาบันก็มีศักดิ์ศรี มีเกียรติมายาวนานเกือบ 100 ปี ต้องมีที่ที่เหมาะสม รวมถึงงบประมาณให้พัฒนาสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ต่อมา นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ นายชวน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ช่วยย้ำเรื่องความสำคัญของการศึกษาไทยว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพื่อเป็นการสะกิดใจว่าให้เราทั้งคณะรัฐมนตรี เพราะกระทรวงการคลัง ก็ต้องมีส่วนในการช่วยหาสถานที่ให้เหมาะสม

"ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ รวมถึงตัวกระผมเองก็คนโชคดี แต่ละคนก็มาจากรากฐานของครอบครัวที่แตกต่างกันไป ผมเองก็เข้าใจถึงความจำเป็นของการศึกษา แล้วก็สำนึกตลอดเวลาว่าบางคนเขาโชคดี อย่างเช่นลูกผมเอง ก็ได้มีโอกาสไปเรียนในสถานศึกษาที่ดี ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เราก็ไม่เคยลืมตรงนี้ แล้วก็เห็นถึงความสำคัญของชีวิตหลังการศึกษา แล้วก็มีหน้าที่ มีงานทำที่เหมาะสม ที่เป็นเกียรติ"
นายกรัฐมนตรี ทิ้งท้ายว่า ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชน อยากให้ลูกหลานของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะอยู่ต่างจังหวัด หรือจะเรียนที่วัด หรือจะอยู่ที่ไหนก็ตามที อยากยกระดับการศึกษาของทุกคนให้โชคดี ให้มีที่เรียนอย่างเหมาะสม ส่วนเรื่องสถานที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะพยายามหาสถานที่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ เพราะตนเองก็เป็น รมว.คลัง จะไปดูให้เป็นพิเศษ พร้อมขอบคุณข้อเสนอและข้อเตือนใจ ก่อนจบการตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายชวน ในเวลา 11.35 น.