วันที่ 12 ก.พ.2567 พล.ร.อ. อะดุง  พันธุ์เอี่ยม  ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึงการพิจารณาหาทางออก โครงการเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า หลังจากที่ได้ประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาแล้ว จะมีการประชุมครั้งที่2 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะ พร้อมที่จะตอบทุกคำถามและขอให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ว่าเรือดำน้ำควรจะเดินไปในทิศทางใด เพื่อเสนอให้ รมว.กลาโหมและส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

เมื่อถามว่าทิศทางทางออกเรือดำน้ำจะเป็นเรือดำน้ำจีน หรือว่าเป็นเรือดำน้ำของประเทศอื่น พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า เราเปิดกว้างสำหรับทุกหนทางซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และดูว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยนายสุทิน  คลังแสง รมว. กลาโหมได้ให้นโยบายไว้3 ข้อคือ 1.กองทัพเรือต้องการจะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างไร
2. ดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยและ 3.หนทางที่จะเลือกนั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ 3 ปัจจัยนี้ จะเป็นคำตอบว่าเราจะเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำนี้อย่างไร

เมื่อถามถึงความต้องการในส่วนของกองทัพเรือคือ ต้องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนต่อไปด้วยกันเปลี่ยนใช้เครื่องยนต์จีนใช่หรือไม่พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า  ความต้องการของกองทัพเรือคือ การสานต่อนโยบายของ อดีตผู้บังคับบัญชา และสานฝันความต้องการของทหารเรือ และต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ระบุไว้ว่าเราจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำ แต่หากคณะกรรมการฯ มีทางออกอื่น ดีกว่า เราก็พร้อมน้อมรับ รวมทั้งน้อมรับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีว่าเรื่องนี้ควรจะมีทางออกทางใด

เมื่อถามถึงการที่มีคณะกรรมการเป็นฝ่ายการเมือง3 คนหากมีความเห็นไม่ตรงกันจะทำเช่นไร พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ  เราขอใช้คำว่า เห็นพ้องร่วมกัน จะเป็นทางออกที่ดี กองทัพเรือจะพยายามชี้ให้เห็น  ถ้าตกลงกันได้ เห็นพ้องกัรได้ ในที่ประชุมแบบที่เรียกว่ามี consensus ได้ จะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดที่จะเสนอรัฐบาล

ส่วนท่าทีของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตสส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  ที่คัดค้านเรือดำน้ำจีนมาตลอด ที่อยู่ในคณะกรรมการ ด้วยนั้น พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า  เรายินดีในคำถามของท่านและเมื่อกองทัพเรือต่อไป ท่านก็ตอบรับด้วยดี

”ผมคาดหวังว่าวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ทุกท่านจะนำเอา ผลประโยชน์ของประเทศชาติและ ศักดิ์ศรีของประเทศมาตั้งไว้กลางที่ประชุม และตัดสินใจด้วยความเป็นกลาง“ ผบ.ทร. ระบุ 

เมื่อถามว่าหากได้เดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนต่อกว่าจะต่อเสร็จใช้เวลาอีก3-4 ปีในระหว่างนี้กองทัพเรือจะดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างไร พลเรือเอกอะดุง กล่าวว่า  เราก็ต้องใช้เรือผิวน้ำเพราะเรือดำน้ำใช้ในวันที่มี conflict  วันปกติเรามีไว้ป้องปราม  วันนี้เรือดำน้ำยังไม่มา ส่วนConflict ระหว่างประเทศ ก็ยังไม่แสดงภาพ ให้เห็นชัด กองทัพเรือ ยังรับไหวกับการปกป้องอธิปไตย การโชว์กำลัง และดูแลผลประโยชน์ของชาติทางทะเล  และมิติการช่วยเหลือประชาชนเรายังปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์แบบส่วนโครงการต่อเรือฟริเกต ลำใหม่นั้นต้องใช้เวลาต่อถึง 3 ปีก็จะมาเป็นเขี้ยวเล็บให้กับคนไทย

กองทัพเรือยืนยันว่าจะทำหน้าที่ ในการรักษาสถาบัน เทิดทูนสถาบันและรักษาอธิปไตย ทางทะเลให้กับคนไทยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล  ไม่ให้ ใครมานำไปได้และสุดท้ายคือการช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีให้กองทัพเรือร่วมอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา OCA นั้นกองทัพเรือ มีจุดยืนอย่างไร  พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า เป็นเรื่อง ระหว่างประเทศก็เป็นเรื่อง ของกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพเรือ จะไม่ไปก้าวล่วง ในการตกลงของกระทรวงการต่างประเทศ  แต่เมื่อตกลงแล้วว่าจะใช้เส้นไหน กองทัพเรือมีหน้าที่รักษาอธิปไตย ตามเส้น ที่กระทรวงการต่างประเทศได้คำข้อตกลงไว้ 

ส่วนการที่มีอดีตนายทหารเรือและส.ว. สายทหารเรือแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการแบ่งพื้นที่ผลประโยชน์ด้านพลังงานกับกัมพูชานั้น พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ปฏิเสธที่จะตอบโดยกล่าวแต่เพียงว่า "ผมขออนุญาตทำหน้าที่ที่กองทัพเรือรับผิดชอบเท่านั้น"