วันที่ 14 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอหลักการและเหตุผลญัตติด่วนในการถวายความปลอดภัยว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 และการถวายความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 

ส่วนการเสนอญัตติในวันนี้ก็เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อันเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 18.20 น.จึงอยากให้สภาฯได้มีมติให้ส่งความเห็นไปให้รัฐบาลไปพิจารณา และกมธ.วิสามัญฯนิรโทษกรรม ของสภาฯรับไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งตนเห็นว่าพฤติกรรมการคุกคามขบวนเสด็จถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าการกระทำที่เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีทั้งประเทศจะยอมรับได้ เป็นการย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจของประชาชน 

สะท้อนให้เห็นชัดเจนก็คือว่าการที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรโดยชัดแจ้งเป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใด ๆ อยู่แล้ว แม้จะต้องทรงงานหนัก ต้องเสด็จให้ทันเวลาก็ตาม ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด และต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่นั้นภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยประเทศทุกประเทศในโลกที่เขาทำกัน 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย ตนไม่อยากจะเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องการเมือง แต่ว่านายกฯทำเรื่องนี้ค่อนข้างช้าจริง ๆ เกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ 7-8 วัน นายกฯ จึงส่งสัญญาณเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง มาหารือเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ จึงอยากเห็นรัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัย ตามกฎหมายที่กำหนด รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี และควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีก 

ขอให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดี มาตรา 112 จะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่สมควรส่งเสริมให้มีการนิรโทษกรรม ความผิดตาม มาตรา 112 

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขอให้รัฐบาลได้พิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่ และจะดำเนินการในรูปแบบไหน อย่างไรต่อไป รวมทั้งการที่จะต้องพิจารณาว่าจำเป็นที่จะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

เพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป อย่างไรก็ตามในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง และในฐานะพสกนิกรชาวไทย ผู้จงรักภักดีคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ กระผมขอถือโอกาสนี้ ถวายกำลังใจแด่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความจงรักภักดียิ่ง” นายจุรินทร์ กล่าว